ก.ล.ต.ส่งหนังสือด่วน! กำชับ ตลท.ใช้อำนาจในมือปรับเกณฑ์-เพิ่มระบบตรวจสอบชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรดดิ้งฟื้นเชื่อมั่น

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ตลาดหุ้นไทยเกิดวิกฤตศรัทธาการทำธุรกรรมชอร์ตเซลและการใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง หรือระบบส่งคำสั่งซื้อขายความถี่สูง (HFT) โดยมองว่าเป็นตัวการที่สร้างความไม่เป็นธรรมนั้น ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ส่งหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงเช้าของวันนี้ เพื่อให้ใช้อำนาจที่มีในการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา ดังนี้

1. กรณีการทำชอร์ตเซล สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ตอกย้ำว่า ก.ล.ต.ได้ให้อำนาจกับคณะกรรมการดลาดหลักทรัพย์ฯ ในการกำหนดราคาการทำชอร์ตเซล (Price Rule) ซึ่งปัจจุบันกำหนดใช้ราคาเท่ากับราคาตลาดฯครั้งสุดท้ายหรือไม่ต่ำกว่าราคาตลาดฯ (Zerotick Rule) แต่คณะกรรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดราคาทำชอร์ตเซลด้วยราคาสูงกว่าราคาครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) เพื่อไม่ให้เกิดการดัมพ์ราคา

“บอร์ดตลาดฯมีอำนาจในการกำหนด Price Rule จะเป็น Zerotick หรือ Uptick ก็ได้ เพราะก.ล.ต.ให้อำนาจบอร์ดตลาดไปแล้ว ปัจจุบันตลาดใช้ Zerotick อยู่ ก.ล.ต.พยายามจะสื่อบอกตลาดฯว่า คุณมีอำนาจอยู่แล้ว ว่าคุณจะใช้ Uptick ก็ได้ คุณต้องไปดูเอาเอง ว่าคุณจะใช้ Uptick ไหม…เราไม่ได้บอกว่าให้ใช้ Uptick แต่ให้ตลาดฯต้องไปดูความเหมาะสมเอง แล้วก็เสนอบอร์ดตลาดฯให้กำหนด Price Rule”

2. ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มกลไกการตรวจสอบการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งว่าลูกค้าตัวจริงเป็นใคร ซึ่งปกติโปรแกรมเทรดดิ้งเป็นชื่อโบรกเกอร์ หรือคัสโตเดียน เพื่อตรวจสอบให้มั่นใจว่ามีการทำ Naked Short Sell หรือไม่

“ชอร์ตเซลไม่ใช่อาญชากร ถ้าคุณทำตามเกณฑ์ ก็ไม่สามารถมาทำลายตลาดได้ แต่ถ้าคุณเป็นพวกปลอมตัวเข้ามา มาทำ Naked Short แบบนี้ มาส่งคำสั่งขาย อันนี้เป็นสิ่งที่เราก็กังวลในจุดนี้ เราก็เลยมองว่าธุรกรรมที่น่ากังวลคือธุรกรรมผ่านโปรแกรมเทรดดิ้ง เราจึงเพิ่มมาตรการ โดยบอกให้ตลาดไปเพิ่มกลไกที่จะตรวจสอบว่าลูกค้าที่ใช้โปรแกรมเทรดดิ้งตัวจริงเป็นใคร”

3. ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทบทวนการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดดิ้งให้เกิดความเป็นธรรมกับนักลงทุนทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรีบ ก.ล.ต.ต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าไปตรวจสอบว่าการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดดิ้งเป็นธุรกรรมของนักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายย่อยต่างชาติ เนื่องจากนักลงทุนสถาบันมีความเสี่ยงต่ำ ค่าธรรมเนียมการซื้อขายก็จะต่ำกว่านักลงทุนรายย่อย แต่หากเป็นนักลงทุนรายย่อยที่มีความเสี่ยงสูงต้นทุนจะสูงกว่านักลงทุนสถาบัน อย่างไรก็ดี ให้ตลาดลักทรัพย์ฯตรวจสอบว่ามีนักลงทุนรายย่อยต่างชาติที่สวมรอยเป็นนักลงทุนสถาบันหรือไม่ โดยเข้ามาซื้อขายผ่านคัสโตเดียน ก็จะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

“เราเห็นประเด็นว่า โปรแกรมเทรดดิ้ง เป็นธุรกรรมที่ต้นทุนต่ำ และสามารถทำกำไรที่สเปรดแคบๆ แนวโน้มใช้กับวอลุ่มเยอะ ตรงนี้เรา มองว่ามีความเสี่ยงสูง สำนักงานฯ ก็ได้กำชับกับตลาดฯเช้านี้คือ ให้ตลาดไปเพิ่มกลไกตรวจสอบ”

นางสาวจอมขวัญ กล่าวอีกว่า หากตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่ามีข้อจำกัดของข้อบังคับทำให้ไม่สามารถดำเนินการก็ขอให้เสนอกับทางสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอจะให้บอร์ด ก.ล.ต.อนุมัติการแก้ไขข้อบังคับให้

นอกจากนั้น ก.ล.ต.จะไปตรวจสอบระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบที่มีสามารถตรวจจับธุรกรรม Naked Short ได้ โดยที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับรายงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเข้าไปตรวจสอบในเร็วๆ นี้ รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของโบรกเกอร์เกี่ยวกับธุรกรรม Naked Short ด้วย หลังจากตรวจสอบแล้วก็จะไปพิจารณาว่าจะมีมาตรการใดออกมาเสริมหรือไม่

“ก.ล.ต.จะลงไปตรวจสอบระบบของตลาดฯ เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ตลาดฯ บอกว่าได้ดำเนินการเข้มงวดมากขึ้นนั้นจะสามารถตรวจจับการทำ Naked Short ที่มันไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ส่งกระทบตลาดให้ผิดปกติหรือไม่ เราจะไปตรวจสอบให้มั่นใจว่าระบบตลาดตรวจจับ Naked Short ได้จริงหรือเปล่า ก็เป็นประเด็นที่อยากจะสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน”

นางสาวจอมขวัญ กล่าวว่า ส่วนเสียงเรียกร้องให้หยุดการทำธุรกรรมชอร์ตเซลนั้น ก.ล.ต.เห็นว่าต้องพิจารณาข้อดีข้อเสีย แต่เบื้องต้นมองว่าการทำชอร์ตเซลไม่ได้เป็นผู้ร้าย เพียงแต่ไม่รู้ว่ามีการทำ Naked Short Sell หรือไม่ ไม่ใช่การทำธุรกรรมชอร์ตเซลที่มีปัญหา เพราะธุรกรรมชอร์ตเซลก็ยังมีข้อดีที่ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของตลาด

ส่วนการที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงต่อเนื่อง มองว่าเป็น Market Sentiment ของตลาดหุ้นไทยเองที่กำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนไทยมีแนวโน้มเป็นขาลง ขณะที่ P/E ตลาดฯค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่น นอกจากนี้ยังรับแรงกดดันจากธนาคารกลางหลายประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็มีความเป็นไปได้ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยลงแรง และยังมีหลายปัจจัยเข้ามากดดันต่อเนื่อง ไม่ใช่จากชอร์ตเซลทำให้ลงแรง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top