นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวเปิดงาน ธนาคารโลก เปิดตัวรายงาน “ปิดช่องว่าง : ความเหลื่อมล้ำและงานในประเทศไทย” และการเปิดตัว “สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย” ว่า สภาพัฒน์ฯ ได้ติดตามปัญหาความเหลื่อมล้ำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 53 ซึ่งความยากจนในประเทศไทย เป็นประเด็นสำคัญการพัฒนามาโดยตลอด ที่ผ่านมาพยายามปรับปรุงตัวชี้วัด โดยเฉพาะเส้นความยากจนทุก 10 ปี ซึ่งสถานการณ์ความยากจนและความเลื่อมล้ำของไทย สัดส่วนคนจนมีความผันผวน แม้เศรษฐกิจขยายตัว คนจนในปัจจุบันมีแนวโน้มจนเรื้อรัง ส่งผลไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน
นายดนุชา กล่าวว่า แม้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะลดลง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ระดับสูง ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข ในการสร้างอาชีพและรายได้ ซึ่งประเด็นความยากจนต้องนำทุกภาคส่วนมาร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกเป็นพันธมิตรสภาพัฒน์ฯ มาช้านาน ในการกำหนดการขจัดความยากจนขั้นรุนแรง เป็นเป้าหมายหลักขององค์กรที่กำหนดไว้ รายงานที่ธนาคารโลกจัดทำเกี่ยวกับประเทศไทย ได้นำเสนอประเด็นที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี โดยปีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ้างงาน ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารโลก จะช่วยให้การแก้ปัญหาของสภาพัฒน์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านนายฟาบริโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการลดช่องว่างระหว่างคนที่ร่ำรวยที่สุดและยากจนที่สุดเป็นอย่างมาก แต่ความคืบหน้าดังกล่าวได้ชะลอตัวลงนับตั้งแต่ปี 2558 และในปี 2564 ประเทศไทยมีสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ของรายได้ ซึ่งเป็นหน่วยวัดมาตรฐานของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ อยู่ที่ 43.3 % ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของความไม่เสมอภาคของรายได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก การกระจุกตัวของรายได้ในครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุดนั้นสูงเป็นพิเศษ โดยในปี 2564 อยู่ที่ 10 % ของคนไทยที่ร่ำรวยที่สุด ถือครองรายได้และความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ
ทั้งนี้ ความแตกต่างด้านโอกาสทางการศึกษา และทักษะรายได้ของเกษตรกรต่ำ ประชากรสูงวัย และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความท้าทายในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย แม้ว่าผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะค่อนข้างน้อย แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ช่องว่างของผลลัพธ์การเรียนรู้ และปัญหาหนี้สินในครัวเรือนที่มีอยู่ ได้เดิมทวีความรุนแรงขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่ลดลงของประเทศไทย เป็นปัจจัยที่ทำให้ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น
นายฟาบริโอ กล่าวว่า จากรายงานฉบับนี้ พบว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย เริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย จากโอกาสในการพัฒนามนุษย์ที่ไม่เท่าเทียมกัน และจะคงอยู่ตลอดวงจรชีวิต และสืบทอดถึงรุ่นต่อๆ ไป ดังนั้นนโยบายจึงเป็นสิ่งจำเป็นในระยะสั้น เพื่อจัดการกับการสูญเสียการเรียนรู้ และราคาของสินค้าจำเป็นที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ช่องว่างทุนมนุษย์ยิ่งกว้างขึ้น เราจำเป็นต้องมั่นใจว่านโยบายที่กำหนดขึ้น สามารถให้การสนับสนุนกลุ่มเปราะบางได้อย่างเพียงพอ เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างภูมิภาค และระหว่างชุมชนภายในภูมิภาค มีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำโดยรวมในประเทศไทย ในปี 2563 รายได้เฉลี่ยในกรุงเทพฯ ซึ่งมี GDP ต่อหัวสูงที่สุดของประเทศนั้น มากกว่า 6.5 เท่าของรายได้เฉลี่ยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมี GDP ต่อหัวต่ำที่สุด
การกระจุกตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ได้ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในระดับภูมิภาคของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาในระดับภูมิภาคให้เกิดความสมดุล และช่องว่างทางการศึกษา และความแตกต่างทางอาชีพเป็นสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย การเข้าเรียนสูงเกือบจะเท่ามาตฐานสากลในระดับประถมศึกษา แต่กลับตกลงในระดับช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 15-17 ปี ไม่ได้ไปโรงเรียน อยู่ที่ 8% ส่วนกลุ่มเด็กผู้ชายอายุระหว่าง 15-17 ปี ไม่ได้ไปโรงเรียนพุ่งสูงถึง 17%
สำหรับอุปสรรคของการเรียนทางไกล ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นกับนักเรียนในครัวเรือนที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย คาดว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้ช่องว่างการเรียนรู้กว้างขึ้น ความแตกต่างระหว่างจำนวนปีของการศึกษากับจำนวนปีของการศึกษาที่ปรับด้วยคุณภาพการเรียนรู้ (earning adjusted years) เพิ่มขึ้นจาก 3.7 ปี เป็น 4 ปี ส่งผลให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้วนั้นยิ่ง ต่ำลงกว่าเดิม โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีรายได้น้อย
ด้วยเหตุนี้ ดัชนีทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของธนาคารโลก ที่วัดการมีส่วนร่วมด้านสุขภาพและการศึกษาต่อประสิทธิภาพการผลิตของบุคคลและประเทศต่างๆ คาดว่า ตัวเลขของประเทศไทยจะลดลงจาก 0.61 ในปี 2563 เหลือ 0.55 ในปี 2565
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดช่องว่างความมั่งคั่ง อัตราโดยรวมของครัวเรือนที่เป็นหนี้ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 45.2% เป็นร้อยละ 51.5% ระหว่างปี 2562 – 2564 เนื่องจากการกู้ยืมของครัวเรือนเพื่อชดเชยการสูญเสีย
สำหรับนโยบายในการจัดการกับปัจจัยเชิงโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำ สามารถแบ่งโครงสร้างได้เป็น 3 ได้แก่
1.การสร้างความยืดหยุ่น ในระยะสั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสียการเรียนรู้และราคาสินค้าจำเป็นที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทั้งคู่อาจทำให้ช่องว่างด้านทุนมนุษย์กว้างยิ่งขึ้น มาตรการเชิงนโยบายสามารถรวมถึงการสนับสนุนโรงเรียนและการฟื้นฟูการเรียนรู้ ปรับปรุงนโยบายการคลังเพื่อเสริมสร้างโปรแกรมการคุ้มครองทางสังคม การกำหนดเป้าหมายการช่วยเหลือครัวเรือนยากจน เพิ่มการจัดเก็บรายได้ และการลงทุนด้านการศึกษาและบริการด้านสุขภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้งในระยะลั้นและระยะยาว
2.การเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและทั่วถึง นโยบายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงมากขึ้น สามารถมุ่งเน้นไปที่ลำดับความสำคัญหลัก 4 ประการ ได้แก่ การเพิ่มทักษะและยกระดับทักษะของแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการหยุดชะงักของตลาดแรงงาน, การใช้การศึกษาและการฝึกอบรมในการสร้างเส้นทางสู่งานที่ดีขึ้น และช่วยให้แรงงานปรับตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว, เพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในตลาดแรงงาน, เพิ่มรายได้ของเกษตรกร
3.การส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้น นโยบายเพื่อเพิ่มความเท่าเทียมกันของโอกาสในการศึกษา ควรมุ่งเน้นการรับเด็กที่ยากจนเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาล การปิดช่องว่างในการเรียนรู้ การสนับสนุนนักเรียนที่มีความเสี่ยง เพื่อปรับปรุงผลการเรียนและลดอัตราการลาออกกลางคัน และช่วยให้นักเรียนมุ่งไปสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษ และจัดระเบียบโรงเรียนขนาดเล็กให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีทรัพยากรที่พร้อมมากขึ้น จะสามารถช่วยพัฒนาการกระจายทรัพยากรให้มีความเท่าเทียมกันทั่วทุกโรงเรียน การลดความแตกต่างเชิงพื้นที่ในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน และโครงสร้างพื้นฐานจะสามารถช่วยบรรเทาความไม่เท่าเทียมกันที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในพื้นที่
ด้านนางวรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ว่า สถานการณ์ความยากจนในปี 2565 ภาพรวมปรับตัวดีขึ้นหลังผ่านการระบาดของโควิด-19 โดยล่าสุด มีจำนวนคนจนรวม 3.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจน 5.43% ลดลงจากปีก่อนที่มีจำนวนคนจน 4.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนคนจน 6.32%
ขณะที่เส้นความยากจนของคนไทยปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนเช่นกัน โดยปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,803 บาท/คน/เดือน ในปี 2564 เป็น 2,997 บาท/คน/เดือนในปี 2565
สำหรับจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 5 จังหวัดในปี 2565 ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน ปัตตานี ตาก นราธิวาส และ กาฬสินธุ์ โดยที่น่าห่วงคือ แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด และติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกัน 19 ปี ตั้งแต่ปี 2545 สะท้อนให้เห็นปัญหาความยากจนเรื้อรังที่เกิดขึ้น และต้องเร่งหาทางแก้ไขในเชิงนโยบาย
ส่วนสถานการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำ สภาพัฒน์มีตัวเลขสถานการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่าย พบว่า ในภาพรวมรวมปรับตัวดีขึ้น โดยตัวชี้วัดสำคัญ คือ ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ในปี 2565 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.343 จากระดับ 0.350 ในปีก่อน โดยตัวชี้วัดหลายด้านค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ทั้งด้านโอกาสทางการศึกษา หลักประกันสุขภาพ และการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ
นางวรวรรณ กล่าวว่า ตัวชี้วัดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การจัดสรรงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เมื่อดูจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด ก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการต่าง ๆ ไม่ต่างจากจังหวัดอื่นที่มีสัดส่วนคนจนน้อย โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,398 บาท/คน เช่นเดียวกับงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณลงไปเท่า ๆ กับจังหวัดอื่นเช่นกัน แต่ก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่จบ จึงต้องหาวิธีในการแก้ไขอย่างตรงจุดต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 66)
Tags: ความเหลื่อมล้ำ, ดนุชา พิชยนันท์, ธนาคารโลก, ปัญหาความยากจน, วรวรรณ พลิคามิน, สภาพัฒน์, สศช., เวิลด์แบงก์