ANI เคาะราคาขาย IPO ที่ 5.25 บาท P/E 11.19 เท่า เปิดให้จองซื้อ 4-7 ธ.ค.66

บมจ.เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล (ANI) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 554,738,900 หุ้น คิดเป็นประมาณไม่เกิน 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลัง IPO ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 5.25 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท/หุ้น ระยะเวลาจองซื้อวันที่ 4 และ 6-7 ธันวาคม 2566 โดยมีผู้จัดการการจัดจำหน่าย โดยไม่รับประกันการจำหน่าย คือ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)

พร้อมแต่งตั้งผู้ร่วมจัดจำหน่ายโดยไม่รับประกันการจัดจำหน่าย หรือ (Co-Underwriters) อีก 5 ราย ประกอบด้วย บล. กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, บล.บัวหลวง, บล. บียอนด์, บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ , และบล. ไอร่า

การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO หากพิจารณากำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่ 1 ต.ค.65-30 ก.ย.66) ซึ่งเท่ากับ 866.9 ล้านบาท (อ้างอิงจากข้อมูลทางการเงินรวมเสมือนสำหรับงวด 3 เดือนตั้งแต่ 1 ต.ค.6-31 ธ.ค.65 และข้อมูลทางการเงินรวม (สอบทาน) สำหรับงวด 9 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 ก.ย.66) หารด้วยจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO จำนวน 1,848,000,000 หุ้น (Fully Diluted)) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เท่ากับ 0.47 บาทต่อหุ้น และ อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ประมาณ 11.19 เท่า

บริษัทได้เปรียบเทียบอัตราส่วน P/E ของหมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 1 ปี ย้อนหลัง เท่ากับ 52.97 เท่า และเปรียบเทียบ P/E ของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มขนส่ง ได้แก่ บมจ.ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ (III) บมจ.ไวส์ โลจิสติกส์ (WICE) และ บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) โดยเฉลี่ยแล้วจะมีอัตราส่วน P/E ประมาณ 13.7 เท่า

บริษัทจะนำเงินจากการระดมทุนราว 2,135.9-2,785.1 ล้านบาทไปใช้ชำระเงินเจ้าหนี้ค่าหุ้นค้างจ่ายจากการซื้อธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน (Cargo General Sales Agent: Cargo GSA:GSA) ในสิงคโปร์และมาเลเซียในช่วงปลายปี 65 ให้แก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ราว 2,135.9-2,785.1 ล้านบาทภายในปี 67 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ 0-500 ล้านบาทภายในปี 67

ANI เป็นหนึ่งในบริษัทในกลุ่มของ III โดยมีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมค้า 28 บริษัท ประกอบธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน (GSA) ให้แก่สายการบินชั้นนำกว่า 20 สายการบินใน 8 ประเทศและเขตบริหารพิเศษทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งได้แก่ ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง จีน มาเลเซีย กัมพูชา และ เมียนมา ครอบคลุมเส้นทางการบินซึ่งมีปลายทางกว่า 400 แห่งในทุกภูมิภาคทั่วโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top