การผลิตข้าวนอกฤดูกาลในเอเชียมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากสภาวะการเพาะปลูกที่แห้งแล้ง, ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ลดลง และสภาพอากาศที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะลดผลผลิตข้าวในช่วงต้นปี 2567 และจะทำให้อุปทานข้าวตึงตัวมากขึ้น อีกทั้งกระตุ้นเงินเฟ้อจากราคาอาหารที่สูงขึ้น
เทรดเดอร์และนักวิเคราะห์ระบุว่า อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกและไทยซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลกมีแนวโน้มจะผลิตข้าวได้น้อยลงในการเพาะปลูกนอกฤดูกาลในช่วง 3 เดือนแรกของปีหน้า ขณะที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวชั้นนำ ยังคงประสบปัญหาจากภัยแล้งขณะที่ชาวนาทำการเพาะปลูกข้าว
“ราคาข้าวควรจะกระตุ้นให้เกิดการเพาะปลูก แต่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่ระดับต่ำในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวลดน้อยลงในการเพาะปลูกนอกฤดูกาล” นายปีเตอร์ คลับบ์ นักวิเคราะห์ของสภาธัญพืชนานาชาติในกรุงลอนดอนระบุ
“อินเดียและไทยมีแนวโน้มจะคุมเข้มการส่งออกข้าว ส่วนในอินโดนีเซียนั้น ฤดูแล้งทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ลดน้อยลงตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งน้ำเหล่านี้จะต้องนำไปใช้เพาะปลูกข้าวในฤดูแล้งของปี 2567” นายคลับบ์ระบุ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อุปทานข้าวทั่วโลกตึงตัวขึ้นในปีนี้ หลังสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งจากผลพวงของปรากฏการณ์เอลนีโญได้ลดการผลิตในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกและนำเข้ารายใหญ่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ธ.ค. 66)
Tags: ข้าว, ปลูกข้าว, ภัยแล้ง, อินเดีย, อุปทาน, เอลนีโญ, เอเชีย, ไทย