DSI ยืนยันกระบวนการรับโอนคดีผู้บริหาร GGC ทุจริตจาก บก.ปอศ. เป็นไปตามกฎหมายคดีพิเศษ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตามที่ปรากฏข่าวในโซเชียลมีเดียระบุว่า DSI แย่งคดีกล่าวหาอดีตผู้บริหารของ บมจ.โกลบอลกรีน เคมิคอล (GGC) กระทำความผิดอาญาฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ) มาดำเนินการเองทั้งที่คดีใกล้จะเสร็จจนมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาและเตรียมสรุปสำนวนการสอบสวนแล้วนั้น

DSI ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย.61 ทาง GGC ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของ บก.ปอศ.ให้ดำเนินคดีอาญากับผู้บริหาร ฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา หลังจากตรวจพบหลักฐานว่าระหว่างปี 57-61 ได้กระทำการทุจริตสั่งซื้อน้ำมันปาล์มดิบแล้วออกใบรับสินค้าโดยยังไม่ได้รับสินค้าทำให้ GGC จ่ายเงินค่าสินค้าให้กับบริษัทคู่ค้ามีมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 2,078.76 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.64 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้มีหนังสือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอศ. ให้ดำเนินคดีอาญากับผู้บริหารของ GGC และผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากตรวจสอบพบพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่ากรรมการผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารของ GGC ขณะเกิดเหตุ กระทำการเข้าข่ายเป็นความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันมีข้อเท็จจริงแห่งคดีเดียวกัน จึงรวมการสอบสวนเป็นสำนวนเดียว

จากนั้น บก.ปอศ.ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 ต.ค.66 ถึงอธิบดี DSI ส่งเรื่องทั้งหมดมาเพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากได้มีประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะ ของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ข้อ 4 ประกอบบัญชีท้ายประกาศฯ ข้อ 11 กำหนดให้คดีความผิดที่มีโทษตามมาตรา 281/2 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (กรรมการหรือผู้บริหารบริษัท ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความสุจริต จนเป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย) กรณีที่มีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ที่มีความซับซ้อนหรือมีผลกระทบต่อประเทศในมิติต่างๆ ตามที่กำหนด ในมาตรา 21 ของกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ เป็นอำนาจของอธิบดี DSI ที่จะมีคำสั่งให้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ

รองอธิบดี DSI รักษาราชการแทนอธิบดี ได้พิจารณาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงต่างๆ จากสำนวนการสอบสวนของ บก.ปอศ.และที่เจ้าหน้าที่รวมรวมเพิ่มเติมตามที่เสนอมาแล้ว เห็นว่ามีเหตุตามกฎหมาย เนื่องจากปรากฏมูลค่าความเสียหายถึง 2,078.76 ล้านบาท และเป็นคดีที่มีความซับซ้อน มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 ให้ทำการสอบสวนคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ต้องสืบสวนและสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

ภายหลังจากที่มีการส่งมอบสำนวนการสอบสวนเป็นที่เรียบร้อย ข้อบังคับกำหนดให้ต้องมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนผู้ทำการสอบสวนมาแต่เดิม กับพนักงานสอบสวนของ DSI เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือ รวมทั้งตามมาตรา 22 วรรคท้ายของกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ ยังกำหนดให้สำนวนการสอบสวนที่ส่งมอบมานั้นเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ จึงทำให้พยานหลักฐานทุกประการที่ดำเนินการมาแล้วต้องถูกนำมาประกอบการพิจารณาจนตลอดกระบวนการยุติธรรม อันเป็นกระบวนการตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ

ในทางกลับกัน หากพนักงานสอบสวน บก.ปอศ.ยังทำการสอบสวนต่อไปโดยไม่ส่งมอบมายัง DSI ย่อมเป็นการสอบสวนที่ปราศจากอำนาจ ตามกฎหมาย เป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล ไปด้วย และหากต่อมาการสอบสวนของพนักงานสอบสวน DSI พบว่าเป็นคดีที่มีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะ “พนักงานสอบสวน” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องดังกล่าว จะเป็นผู้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top