นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าขยายการลงทุนโครงการใหม่และการทำดีล M&A ในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในออสเตรเลีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ไม่เพียงในธุรกิจพลังงาน แต่ยังขยายธุรกิจอื่น ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน และเฮลธ์แคร์ เพื่อผลักดันรายได้ และ EBITDA ให้เติบโต
เบื้องต้นในปี 67 บริษัทตั้งเป้า EBITDA เติบโต 5% จากคาดว่าปี 66 จะมี EBITDA อยู่ที่ราว 1.2 หมื่นล้านบาท ตามการรับรู้รายได้และกำไรจากการลงทุนที่เข้ามาเพิ่มขึ้น โดยบริษัทวางเป้ามีกำลังการผลิตใหม่ในปีหน้าอีกกว่า 700 เมกะวัตต์ จากการขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้ากรีนฟิลด์ในออสเตรเลีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันบริษัทศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าใหม่และพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในพอร์ตการลงทุน ซึ่งดำเนินการแล้วกว่า 10 โครงการ นอกจากนี้ ยังเน้นการบริหารโครงการโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และเดินเครื่องได้ทันกำหนดเวลาตามที่สัญญาระบุไว้ โดยมีกำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุนรวม 2,918.23 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 67-76
นางสาวชูศรี กล่าวว่า ประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นฐานธุรกิจด้านพลังงานทดแทนที่สำคัญ โดยมีบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาและลงทุน บริษัทเล็งเห็นศักยภาพและโอกาสที่จะขยายการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเสริมความเชื่อถือและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในช่วงที่ออสเตรเลียกำลังจะเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 93
บริษัทศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานสะอาดและความมั่นคงระบบไฟฟ้าของออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพมาก โดยมีแนวคิดยกระดับสินทรัพย์โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่อให้บริการผลิตไฟฟ้าเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาและคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 152 เมกะวัตต์ ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 81 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวส์เซาท์เวลส์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานลมขนาดใหญ่ ประมาณ 120 เมกะวัตต์ ในรัฐควีนส์แลนด์ ตลอดจนการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานขนาด 100 เมกะวัตต์ เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตพลังงานทดแทนและจำหน่ายผ่านระบบสายส่ง
ส่วนเวียดนาม บริษัทได้ศึกษาศักยภาพและโอกาสการลงทุนจากจากแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 ของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตถึง 150 กิกะวัตต์ โดย 40% จะเป็นพลังงานทดแทน ปัจจุบัน บริษัทดำเนินการผ่านบริษัทร่วมทุนในการขยายฐานธุรกิจ โดยศึกษาและพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม อีกทั้งยังมีแผนที่จะเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วเช่นกัน
และในฟิลิปปินส์ บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์เนโกรส คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 67 โครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งในอ่าวซานมิเกล และโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งลูเซียน่า บนเกาะลูซอน คาดว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนก่อสร้างได้ในปี 68
บริษัทยังมองการเข้าลงทุนซื้อกิจการ (M&A) อย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นไปที่โครงการพลังงานทดแทน (Renewable) ในต่างประเทศ และการลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และเฮลธ์แคร์ ขณะที่วางงบลงทุนรวมปี 67 ไว้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาราว 8,000 ล้านบาท และจะใช้ลงทุนในโครงการใหม่ ซึ่งรวมถึง M&A ราว 7,000-8,000 ล้านบาท
นางสาวชูศรี กล่าวว่า ในปี 67 บริษัทจะมีกำลังการผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้นอีก 459.06 เมกะวัตต์ (MW) จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง ชุดที่ 1 กำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุน 392.70 เมกะวัตต์ มีกำหนด COD ในเดือนมี.ค.67 ปัจจุบัน ได้ดำเนินการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว ผ่านทางบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว ระยะเวลา 3 ปี กับบริษัท Gunvor Singapore Pte. Ltd. โดยจะมีการส่งมอบในปริมาณปีละ 0.5 ล้านตัน และการส่งมอบครั้งแรกจะดำเนินการในเดือนมี.ค.67, โครงการโรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น กำลังผลิตติดตั้ง 31.2 MW มีกำหนด COD เดือนม.ค.67, โครงการโรงไฟฟ้าสหโคเจนใหม่ กำลังผลิต 79.5 MW คาด COD เดือน เม.ย.67 , โครงการโรงผลิตไฟฟ้านวนครส่วนขยายระยะที่ 3 กำลังผลิตติดตั้ง 30 MW คาด COD เดือน ธ.ค.67
สำหรับช่วงที่เหลือของปี 66 บริษัทฯ คาดหวังจะสามารถปิดดีลลงทุนใน 2 โครงการ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และ Non-Power โดยคาดหวังว่าจะเข้ามาสนับสนุนรายได้ที่เกิดจากการ M&A เพิ่มขึ้นมากกว่า 2-3 พันล้านบาท แต่หากไม่สามารถปิดดีลดังกล่าวได้ในปีนี้ ก็คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในไตรมาส 1/67
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 66)
Tags: RATCH, ชูศรี เกียรติขจรกุล, ราช กรุ๊ป, หุ้นไทย