ตลท.จี้ NRF แจงเหตุปล่อย Plant and Bean ล้มละลาย-ธุรกรรมซับซ้อน “อินดีม กรุ๊ป”

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จี้ บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปร์ดิวซ์ (NRF) ชี้แจงผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนใน Plant and Bean Ltd. หลังงบไตรมาส 3/66 มีข้อมูลว่าในเดือน พ.ค.66 Plant and Bean เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายล้มละลายของประเทศองักฤษ ทำให้บริษัทต้องรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนทั้งจำนวน 78 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกปี 66 กำไรสุทธิลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 92% โดย NRF เพิ่งเข้าลงทุนในบริษัทนี้เพียง 3 ปี และใช้เงินทุนจากการเสนอขายหุ้น IPO

NRF ชี้แจงว่า Plant and Bean จัดตั้งในประเทศในสหราชอาณาจักรในวันที่ 7 มิ.ย.66 ประกอบธุรกิจ จำหน่ายสินค้าในอุตสาหกรรมอาหารและโปรตีนจากพืช (Plant-based) ด้วยทุนจดทะเบียน 4,360.95 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 100 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 43.61 บาท ถือหุ้น 80% โดย บริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ NRF ถือหุ้น 100% และพันธมิตรคือ The Brecks Company Ltd ถือหุ้น 20%

โนฟ ฟู้ดส์ ตั้งใจจะปรับโครงสร้างบริษัทลูกและของกลุ่มโดยแยกออกมาเป็น 3 ส่วน คือ 1.ส่วนของการผลิต 2. ส่วนของสิ่งแวดล้อม และ 3. ส่วน new economy โดยจะเอาบริษัทที่ประกอบธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วย โนฟ ฟู้ดส์ และบริษัท เอ็นอาร์เอฟ คอนซูมเมอร์ จำกัด ซึ่งประกอบด้วย Boosted NRF Ltd. ซึ่งทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และบริษัทที่ทำธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมอยู่ภายใต้บริษัทโฮลดิ้ง คือ Bamboo Mart ถือว่าเป็น new economy ของบริษัท

บริษัทจะปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เนื่องจากอาหาร Plant-Based สามารถขยายไปยังธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ เพราะคนเอเชียนิยมบริโภคอาหาร Plant-Based แต่สินค้า Plant-Based สำหรับคนเอเชียมีน้อย บริษัทตั้งใจที่จะเพิ่มทุนใน Plant and Bean เพื่อที่จะขยายกิจการต่อ อีกทั้ง Plant and Bean ต้องการเงินทุนหมุนเวียน แต่ The Breck Company และ Mr. James Hurst, CEO ของ Plant and Bean Ltd และผู้ถือหุ้นของ The Breck Company ไม่ลงทุนตามสัดส่วน เนื่องจากปัญหาสภาพคล่อง บริษัทจึงตัดสินใจไม่สนับสนุนเงินทุนต่อ ผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายจึงตกลงพร้อมกันปิด Plant and Bean ทำให้ Plant and Bean ขาดสภาพคล่องทางการเงินไม่สามารถดำเนินธุรกิจ และไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้และเจ้าหนี้การค้า จึงได้เข้ากระบวนการล้มละลายทางกฎหมาย

และในเดือน ธ.ค.65 ผู้ถือหุ้นทั้งสองได้ตกลงโอนความรู้ รวมไปถึงบุคลากรและเทคโนโลยีเครื่องหมายการค้า ให้กับ บริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 25.5% เพื่อให้เป็นฐานสำคัญในการผลิตของกลุ่มอาหาร Plant-Based ซึ่งการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนถึง 12 เดือนในการที่ Plant and Bean จะสามารถทำกำไรได้ตามแผนธุรกิจ ซึ่งค่อนข้างล่าช้า เนื่องจาก สงครามยูเครนทำให้ค่าพลังงานเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเอา Plant and Bean เข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามกฎหมายประเทศอังกฤษ และบริษัทจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของของกลุ่มอาหาร Plant-Based และจะลดบทบาทของการผลิตที่ประเทศอังกฤษเนื่องจากความไม่แน่นอนเรื่องของภาวะสงคราม

NRF ระบุว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้บริษัทเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตนี้ได้ถ่ายทอดมาที่ประเทศไทยแล้ว และประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะที่ไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและภาวะสงครามที่ส่งผลให้ค่าพลังงานสูงค่อนข้างน้อย การผลิตที่ประเทศไทยจึงค่อนข้างเสถียรกว่าประเทศอื่น ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อ Plant and Bean เข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามกฎหมายประเทศอังกฤษแล้ว บริษัทจึงต้องด้อยค่าเงินลงทุนทั้งหมดทันที ณ วันที่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว

ตลท.ยังสอบถามถึงผลขาดทุนจากการขายบริษัท อินดีม กรุ๊ป จำกัด เนื่องจากในงบการเงินไตรมาส 3/66 มีข้อมูลว่าวันที่ 1 ก.พ.66 ได้ขายหุ้น อินดีม ทั้งหมดให้แก่บุคคลอื่น รวม 4 ล้านบาท และรับรู้ผลขาดทุนจากการขายเงินลงทุน 10 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ NRF เพิ่งเข้าลงทุนใน อินดีม เพียง 1 ปี 5 เดือน และต่อมาต่อมาวันที่ 3 ก.พ.66 บริษัทกลับเข้าไปซื้อธุรกิจ อินดีม กลับคืนมา 3 ล้านบาท ภายหลังการขายหุ้นเพียง 2 วัน

NRF ชี้แจงว่า คณะกรรมการบริหารได้มีมติเข้ารซื้อสินทรัพย์ และธุรกิจของ อินดีม กรุ๊ป ในสัดส่วน 51% เมื่อวันที่ 27 ส.ค.64 เนื่องจากบริษัทในกลุ่มไม่มีใบอนุญาตดำเนินธุรกิจการขายตรง ดังนั้น เอ็นอาร์เอฟ คอนซูมเมอร์ จึงเข้าซื้อหุ้น อินดีม กรุ๊ป จากผู้ถือหุ้นเดิมด้วยราคาพาร์ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.64 และจะทำการขายคืนด้วยราคาที่ซื้อเมื่อบริษัทหรือบริษัทในกลุ่มของบริษัท ได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจการขายตรง ซึ่ง ณวันที่ซื้อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงกว่าราคาพาร์ ทำให้บริษัทมีกำไรจากการลงทุน

ต่อมามีการจัดตั้ง บริษัท อินดีม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เมื่อวันที่ 14 ต.ค.64 โดย เอ็นอาร์เอฟ คอนซูมเมอร์ ถือหุ้น 100% เพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์และธุรกิจของ อินดีม กรุ๊ป 51% และขอใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจการขายตรง เมื่อ อินดีม อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รับใบอนุญาต ทางเอ็นอาร์เอฟ คอนซูมเมอร์ จึงได้ขายหุ้นของ อินดีม กรุ๊ป จ กัด ด้วยราคาพาร์ คืนแก่ผู้ถือหุ้นเดิม และ อินดีม อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ซื้อสินทรัพย์และธุรกิจของ อินดีม กรุ๊ป ซึ่ง ณ วันที่ขายมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงกว่าราคาพาร์ จึงทำให้เกิดผลขาดทุนจากการขายเงินลงทุน และผู้ถือหุ้นเดิม ของ อินดีม กรุ๊ป จะถือหุ้นในอินดีม อินเตอร์เนชั่นแนล 49% ตาม Asset Purchase Agreement บริษัทจ่ายด้วยเงินสด 25,000,000 บาท และด้วยหุ้นของ อินดีม อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ แก่ อินดีม กรุ๊ป 49% และภายใน 12 เดือนหลังจากการร่วมลงทุนกับบริษัทหรือบริษัทในกลุ่ม ถ้า อินดีม กรุ๊ป สามารถทำ EBITDA ได้ 16,000,000 บาท บริษัทจะจ่ายเพิ่ม 15,000,000 บาท และหุ้นของ เอ็นอาร์เอฟ คอนซูมเมอร์ 32,500 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 1.6% ซึ่ง อินดีม กรุ๊ป สามารถทำได้

สรุป บริษัทได้เข้าลงทุนในบริษัท อินดีม กรุ๊ป จำกัด ที่ราคาพาร์จ นวน 3.5 ล้านบาท และได้มีการขายหุ้นคืนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่ราคาพาร์จำนวน 3.5 ล้านบาทเท่ากัน แต่เนื่องจากมูลค่าทรัพย์สินทางบัญชีสูงกว่าราคาพาร์ จึงต้องบันทึกขาดทุนจากเงินลงทุนจำนวน 10.24 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงผลขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top