แบงก์ชาติ ดับฝันจัด กนง.นัดพิเศษ มองเงินเฟ้อติดลบไม่ใช่เงินฝืดมั่นใจทั้งปีเข้ากรอบ

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องมีการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษก่อนถึงการประชุม กนง.ตามกำหนดนัดแรกของปีนี้ในวันที่ 7 ก.พ.67

พร้อมทั้งชี้แจงว่า กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเป็นการสะท้อนการชั่งน้ำหนักที่พิจารณาปัจจัยทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยโลก

“จุดยืนของ กนง. คือ ต้องการให้อยู่ในภาวะสมดุล เป็นกลาง ภาวะการเงินไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอาจผันผวนไปบ้าง แต่อยู่ในขอบเขตที่รับได้”

นายปิติ กล่าวว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยต้องทำให้อยู่ระดับที่พอดี ไม่สูงจนเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ และไม่ต่ำเกินไปจนสร้างปัญหาเชิงเสถียรภาพ และสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน กนง. จะดูข้อมูลที่เข้ามา และพร้อมจะปรับจุดยืนนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ได้ยึดจุดยืนไว้ว่าจะไม่ปรับเปลี่ยน แต่ขึ้นอยู่กับการประเมินภาพเศรษฐกิจว่ามีพัฒนาการอย่างไร

 

คาดเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องถึงก.พ. แต่ทั้งปียังอยู่ในกรอบ 1-2%

สำหรับปัญหาเงินเฟ้อในไทยคลี่คลายไปพอสมควรจากก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูง ปัจจุบันการที่เงินเฟ้อต่ำเป็นการสะท้อนระดับราคาสินค้าที่ไม่เพิ่มขึ้นจนเป็นภาระให้ประชาชน และสินค้าบางประเภทที่เคยปรับขึ้นราคาไปก่อนหน้านี้ก็เริ่มชะลอตัวลง

การที่เงินเฟ้อลดลงจนติดลบนั้น กนง. ได้คาดการณ์ไว้แล้ว เพราะเป็นผลมาจากราคาอาหารสดปรับลดลง ตลอดจนราคาพลังงานที่ลดลงจากการอุดหนุนของภาครัฐ แต่หากหักราคาอาหารสดและราคาพลังงานแล้ว เงินเฟ้อทั่วไปก็ยังไม่ได้ติดลบ

“อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ ไม่ได้สะท้อนว่าอุปสงค์หรือกำลังซื้อหมดไป ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด หากจะถามว่าทำไมเงินเฟ้อติดลบแล้วไม่ลดดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อที่ติดลบ มาจากปัจจัยเฉพาะที่ไม่ยั่งยืน เงินเฟ้อที่ลดไม่ได้สะท้อนว่ากำลังซื้อแผ่วลง เงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบ 2% ซึ่งการลดลงของเงินเฟ้อ สะท้อนปัญหาการผลิตที่คลี่คลายลง” นายปิติ ระบุ

การดำเนินนโยบายการเงินจะดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมายอย่างยั่งยืน ซึ่ง กนง.คาดว่าเงินเฟ้อติดลบไปจนถึงเดือน ก.พ.67 และจากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ทั้งปีนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับ 1-2% ตามกรอบเป้าหมาย

 

นโยบายการเงิน ชั่งน้ำหนัก GDP-เงินเฟ้อ-เสถียรภาพการเงิน

นายปิติ กล่าวว่า ธปท. และ กนง.ไม่ได้นิ่งนอนใจว่าเศรษฐกิจดีแล้ว จะไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม แต่ปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมา การที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึงนั้น นโยบายการเงินไม่สามารถจะแก้ได้ง่าย หรือเป็น Quick Fix เพราะหลายอย่างต้องใช้ยา หรือการรักษาที่ตรงจุด หรือตรงต้นตอของปัญหา ซึ่งการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยมีต้นทุน และมีความเสี่ยงที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ซึ่งความเสี่ยงไม่ได้มีเพียงเรื่องเงินเฟ้อ แต่อาจเป็นการสร้างปัญหาให้ตามมาภายหลังซึ่งยากต่อการแก้ไข เช่น การก่อหนี้เกินตัว

ดังนั้นในนโยบาย Inflation targeting ที่ ธปท.ดำเนินการมาตลอดนั้น ไม่ได้เพียงแค่ดูเงินเฟ้อระยะสั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ มากมายที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบ และชั่งน้ำหนักปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้าน แยกแยะสาเหตุของพัฒนาการที่เกิดขึ้น ว่าอะไรเป็นแก่น อะไรเป็นกระแส พร้อมกับมองไปข้างหน้าในระยะปานกลาง เพราะการพิจารณานโยบายการเงินจะต้องใช้เวลาในการส่งผ่านไปสู่เศรษฐกิจจริง

“เปรียบเหมือนการเล่นฟุตบอลที่ดี ต้องส่งลูกไป ไม่ใช่ที่ที่ผู้เล่นยืนอยู่ แต่เป็นที่ที่ผู้เล่นกำลังจะวิ่งไป ซึ่งนโยบายการเงินต้องดู 3 ส่วนหลัก คือ การให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน ให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และเสถียรภาพระบบการเงิน”

นายปิติ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา มีทั้งส่วนที่เป็นไปตามคาด และไม่เป็นไปตามคาด โดยที่เป็นไปตามคาด คือ เศรษฐกิจฟื้นตัวนำโดยภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในปี 2566 แต่การฟื้นตัวดังกล่าว ยังไม่ทั่วถึงและยังไม่สมดุล เพราะขาดแรงส่งจากภาคการส่งออก และภาคการผลิต

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังโหลดอยู่ในภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิต และภาคการส่งออกยังไม่กลับมาเต็มที่ ดังนั้น สิ่งที่ไม่เป็นไปตามคาด คือ นักท่องเที่ยวแม้จะกลับมาในแง่ของจำนวนใกล้เคียงกับที่มองไว้ แต่อยู่ในระยะเวลาสั้นกว่า และใช้จ่ายน้อยกว่า อีกทั้งนักท่องเที่ยวจีนยังมาไม่เท่าที่เราประเมินไว้ ส่วนภาคการผลิต และภาคการส่งออก ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เร็วเท่าที่มองไว้ จากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวขึ้นนั้นมาจากภาคบริการเป็นหลัก จึงไม่ได้มีความต้องการซื้อสินค้าจากทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย ซึ่งอีกส่วนเป็นการสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง และความท้าทายที่ต้องมองถึงปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แท้จริง “ นายปิติ กล่าว

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในช่วงก่อนมีวิกฤตโควิด-19 นั้น พบว่าการส่งออกของไทย ไม่ได้ขยายตัวเร็วมาก แต่ที่น่าห่วงคือ หลังโควิดจบแล้ว การส่งออกของไทยก็ยังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนหนึ่งอาจส่งสัญญาณได้ว่าไทยสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันด้านการส่งออก เพราะสัดส่วนการส่งออกสินค้ากลุ่มไฮเทคของไทยมีไม่มาก รวมทั้งในระยะหลัง ไทยมีการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นด้วย ขณะที่ภาคท่องเที่ยวของไทยเอง อาจมีเสน่ห์น้อยลงในสายตาของต่างชาติด้วยหรือไม่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่ไทยขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย และเวียดนาม

นายปิติ กล่าวว่า ธปท. มองเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวอย่างสมดุลมากขึ้นและครบครันในทุกเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ซึ่งการกลับมาของวัฎจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก จะช่วยให้การส่งออกมีแรงส่งมากขึ้น แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจเป็นความเสี่ยงให้ไทยได้รับประโยชน์ไม่ได้มากเท่าที่ควรจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ

“ถ้าจะถามว่า เหตุใดการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาด แล้วไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น เหตุผลของการที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่วนใหญ่มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศ และอีกส่วน มาจากปัจจัยต่างประเทศที่อยู่นอกเหนือการควบคุม อัตราดอกเบี้ย คงไม่สามารถทำให้เรามีสินค้าส่งออกที่ซับซ้อนหรือไฮเทคมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ย ก็ไม่สามารถเพิ่มเสน่ห์ของการท่องเที่ยวไทยได้ ดังนั้นต้องพิจารณากันว่าประเด็นโครงสร้างเศรษฐกิจ จะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป” นายปิติ ระบุ

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งฉุดรั้งกำลังซื้อประชาชน และสร้างความเปราะบางต่อระบบเศรษฐกิจ ลดความสามารถในการรองรับภาวะ shock หรือแรงกระแทกที่จะมาจากปัจจัยภายนอก ดังนั้นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจำเป็นต้องพิจารณาในส่วนนี้ประกอบด้วย

นายปิติ กล่าวว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยที่มีสินทรัพย์รองรับ พบว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่น หนี้ก้อนใหญ่ของครัวเรือนไทย ส่วนมากเป็นหนี้เพื่อการบริโภค และหนี้บัตรเครดิต ซึ่งไม่ได้สร้างศักยภาพของการมีรายได้ในอนาคต ดังนั้นการมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป จะซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ และสร้างปัญหา Serch for Yield ให้เพิ่มขึ้น ดังนั้นการจะบรรลุ 3 เป้าหมายที่กล่าวมา (ด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน) กนง.ต้องดูภาวะการเงินอย่างใกล้ชิด โดยพิจารณาหลายมิติ นอกจากเรื่องอัตราดอกเบี้ยแล้ว ต้องผสมผสานเครื่องมืออื่นๆ ที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะจุดได้มากกว่า

“การกำหนดอัตราดอกเบี้ย ก็ต้องทำให้พอดี ไม่สูงเกินไปจนอุปสรรคกับเศรษฐกิจ หรือต่ำเกินไป จนสร้างปัญหาเชิงเสถียรภาพ และสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน ทั้งหมดนี้ กนง.จะดูข้อมูลและพร้อมปรับจุดยืนนโยบาย หากมีข้อมูลเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ” นายปิติ ระบุ

นายปิติ กล่าวว่า การทำนโยบายการเงิน จะต้องวิเคราะห์และแยกแยะถึงสาเหตุของพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่ง 2 ปีก่อนที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับขึ้นสูงนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความร้อนแรงของอุปสงค์ แต่เป็นเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากฝั่งของอุปทาน จึงทำให้ กนง.ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแบบกระชากแรงในทันที แม้เงินเฟ้อในขณะนั้นจะสูงอยู่ที่ระดับ 6-7% ก็ตาม แต่ กนง.ใช้วิธีการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะไม่อยากให้อัตราดอกเบี้ยเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ ที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสะกัดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ

“เป็นเหตุผลของการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเหตุผลของเงินเฟ้อมาจากด้าน Supply และจุดจบของการขึ้นดอกเบี้ยมาสู่ระดับ normalization ก็เป็นระดับที่พอดี ในขณะที่ต่างประเทศต้องขึ้นดอกเบี้ยไปเกินพอดี เช่น สหรัฐขึ้นไปถึง 5%เพื่อต้องการให้นโยบายการเงินฉุดรั้งเศรษฐกิจ ดึงให้เงินเฟ้อลง แต่ของ กนง. เราแค่ถอนคันเร่ง ไม่ให้นโยบายการเงินเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับอุปสงค์” นายปิติ กล่าว

อย่างไรก็ดี จากที่มีการตั้งคำถามถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากที่เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำถึงขั้นติดลบนั้น นายปิติ กล่าวว่า หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงและมาอยู่ในระดับติดลบ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องสะท้อนว่าอุปสงค์จะอ่อนแอลง หรือกำลังซื้อจะหมดไป ดังนั้นการทำนโยบายการเงินจะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยไม่ใช่แค่เงินเฟ้อเพียงปัจจัยเดียว และจะต้องมองให้ทะลุไปถึงระยะปานกลางด้วย

“ณ ตอนนี้ เงินเฟ้อที่ติดลบไม่ได้เป็นตัวสะท้อนว่าอุปสงค์อ่อนแอ หรือกำลังซื้อหมดไป ดังนั้น การที่นโยบายฯต้องมาตอบสนอง หรือว่าปรับเปลี่ยนเพราะการเพิ่มขึ้น-ลดลงของเงินเฟ้อทั่วไป ที่มาจากค่าพลังงานกับอาหารนั้น ต้องพยายามมองให้ทะลุไว้ แต่ตัวสำคัญคือ แนวโน้มเงินเฟ้อระยะต่อไป ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ระดับหนึ่ง เราต้องพิจารณาว่าแนวโน้มเงินเฟ้อปีนี้ ปีหน้าจะปรับเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน ดูข้อมูลที่เข้ามา กนง. ไม่ได้ฟิก ไม่ได้มองแค่เงินเฟ้ออยางเดียว ต้องมองเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงินด้วย ต้องดูให้ครบ และดูให้ทะลุในระยะปานกลาง” นายปิติ ระบุ

 

เปรียบธปท.เป็นผู้รักษาประตู

นายปิติ ยังเปรียบเทียบการดำเนินนโยบายการเงินกับการเล่นฟุตบอลด้วยว่า ธปท.มีบทบาทเหมือนเป็นผู้รักษาประตู ส่วนภาคการเงิน เป็นกองหลัง และภาคประชาชนเป็นกองหน้า ในขณะที่กระทรวงการคลัง เป็นโค้ช และรัฐบาล เป็นผู้จัดการทีม นโยบายการเงินไม่ได้เป็นอะไรที่ถูกต้อง 100% เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ซึ่ง กนง. พร้อมรับฟังทุกมุมมองความเห็นทั้งรัฐบาล นักวิเคราะห์ และทบทวนเสมอว่า จุดยืนหรือภาพที่เรามองมีความสอดคล้อง หรือเป็นอย่างที่ควรเป็นหรือไม่

“ถ้าจะเปรียบเทียบการลดดอกเบี้ยนโยบายแบบกระชาก มันก็เหมือนเอาผู้รักษาประตูไปอยู่ข้างหน้า แม้ช่วยโอกาสที่จะได้ประตู แต่ก็จะเปิดช่องโหว่ ความเสี่ยงด้านหลัง เหมือนเทหน้าตักไป หน้าที่ ธปท. คือรักษาประตู กระทรวงการคลัง เป็นโค้ช มีเครื่องมือ มีผู้เล่น ส่วนรัฐบาลเป็นผู้จัดการทีม สามารถเปลี่ยนปรับผู้เล่นได้ แต่เรา ก็มีหน้าที่ของเรา ทำดีที่สุดแล้ว ถ้าจะทำเกินไปกว่านั้น ต้องพิจารณาว่าได้คุ้มเสียหรือไม่” นายปิติ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top