IMF เผยประชากรโลกยังซื้อบ้านไม่ไหวท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยสูง ราคาบ้านไทยพุ่งสวนสหรัฐ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุในเว็บไซต์ว่า หลังจากธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ราคาบ้านก็ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดที่อยู่อาศัยจะอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาบ้านก็ยังคงสูงเหนือค่าเฉลี่ยในอดีต โดยราคาบ้านในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เช่น ประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลางนั้นสูงเหนือระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาดอยู่ 10%-25%

รายงานดังกล่าวซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ถูกส่งผ่านไปยังตลาดการจำนองที่อยู่อาศัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งบั่นทอนกำลังซื้อของผู้ซื้อบ้านในปัจจุบันและผู้ที่มีแนวโน้มซื้อบ้านในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะขาดแคลนอุปทานบ้านได้จำกัดการซื้อในบางภูมิภาค โดยรวมแล้วประชาชนมีความสามารถในการซื้อบ้านลดลงท่ามกลางภาวะที่ราคาบ้านยังคงอยู่ในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อัตราดอกเบี้ยจำนองบ้านในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วปรับตัวขึ้นกว่า 2 จุดเปอร์เซ็นต์ เทียบกับปีก่อนหน้า โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์เผชิญการปรับตัวลดลงอย่างมากของราคาบ้านที่แท้จริง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นผลมาจากสัดส่วนระดับสูงของอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นรอบระยะเวลา (Adjustable Rate Mortgage) และราคาบ้าน ซึ่งลดลงตั้งแต่ก่อนเกิดโรคโควิด-19

เมื่อเทียบกันแล้ว ราคาบ้านลดลงกว่า 15% ในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วบางแห่ง ส่วนราคาบ้านในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ลดลงน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ราคาบ้านที่แท้จริงจำเป็นต้องชะลอตัวลงจากระดับสูงเมื่อปี 2564-2565 สู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด

ในรายงานเสถียรภาพทางการเงินโลก (Global Financial Stability Report) ฉบับล่าสุดของ IMF ระบุว่า ต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้นมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบมากที่สุดต่อสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ของภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นมาตรวัดความสามารถในการชำระเงินกู้ของผู้กู้เงิน ในประเทศต่าง ๆ ที่ตลาดที่อยู่อาศัยยังคงแพงเกินมูลค่าที่แท้จริงและระยะเวลาผ่อนบ้านสั้นลง

เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า ราคาบ้านที่แท้จริงในสหรัฐปรับลดลง 2.39 จุดเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 2566, จีนปรับลดลง 3.67 จุดเปอร์เซ็นต์, อังกฤษลดลง 5.76 จุดเปอร์เซ็นต์, เกาหลีใต้ลดลง 9.2 จุดเปอร์เซ็นต์ และอินโดนีเซียลดลง 2.61 จุดเปอร์เซ็นต์

ในทางกลับกัน ราคาบ้านที่แท้จริงในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พุ่งขึ้น 10.39 จุดเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 2566, เม็กซิโกเพิ่มขึ้น 4.72 จุดเปอร์เซ็นต์, ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.62 จุดเปอร์เซ็นต์, มาเลเซียเพิ่มขึ้น 0.27 จุดเปอร์เซ็นต์

ส่วนราคาบ้านที่แท้จริงในไทยเพิ่มขึ้น 1.54 จุดเปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่ปี 2566 เทียบกับสหรัฐที่ลดลง 2.39 จุดเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 2566 และจีนลดลง 3.67 จุดเปอร์เซ็นต์

หากนับตั้งแต่ก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด ราคาบ้านที่แท้จริงของไทยเพิ่มขึ้น 4.13 จุดเปอร์เซ็นต์ ส่วนสหรัฐเพิ่มขึ้น 16.15 จุดเปอร์เซ็นต์

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top