ดาวโจนส์ปิดบวก 242.74 จุด ขานรับ GDP สหรัฐสูงกว่าคาด

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (25 ม.ค.) โดยตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐที่ขยายตัวแข็งแกร่งเกินคาดในไตรมาส 4/2566 อย่างไรก็ดี การร่วงลงอย่างหนักของหุ้นเทสลาส่งผลให้ดัชนี Nasdaq ลดช่วงบวก

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,049.13 จุด เพิ่มขึ้น 242.74 จุด หรือ +0.64%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,894.16 จุด เพิ่มขึ้น 25.61 จุด หรือ +0.53% และ
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,510.50 จุด เพิ่มขึ้น 28.58 จุด หรือ +0.18%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ของ GDP ประจำไตรมาส 4/2566 เมื่อคืนนี้ โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 3.3% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.0% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง และช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ โดยในรายงาน GDP ดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำไตรมาส 4/2566 ปรับตัวขึ้นเพียง 2.7% ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 5.9% ในไตรมาส 4/2565 ส่วนดัชนี Core PCE ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นเพียง 3.2% ชะลอตัวลงจากระดับ 5.1% ในไตรมาส 4/2565

ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ที่แข็งแกร่งเกินคาดและการชะลอตัวของเงินเฟ้อในไตรมาส 4/2566 ช่วยให้ดัชนีดาวโจนส์พลิกกลับมาปิดในแดนบวกอีกครั้งหลังจากปรับตัวลงติดต่อกัน 2 วัน ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 6 โดย S&P500 ปิดทำนิวไฮติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ซึ่งเป็นสถิติที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2564

หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้น 2.23% และดัชนีหุ้นกลุ่มบริการด้านการสื่อสารปรับตัวขึ้น 1.83%

อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ลดช่วงบวก โดยถูกกดดันจากราคาหุ้นเทสลาที่ร่วงลง 12% แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2565 หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรและรายได้ที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 4/2566 นอกจากนี้ นายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลายังเตือนว่า ยอดขายรถยนต์เทสลาอาจชะลอตัวลงในปีนี้ แม้บริษัทได้ปรับลดราคารถยนต์ไฟฟ้าหลายครั้งแล้วก็ตาม

ผลประกอบการที่อ่อแอของเทสลายังได้ฉุดราคาหุ้นบริษัทคู่แข่งร่วงลงด้วย โดยหุ้นริเวียน ออโตโมทีฟ (Rivian Automotive) ร่วงลง 2.2% และหุ้นลูซิด กรุ๊ป (Lucid Group) ดิ่งลง 6.7%

หุ้นอินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส แมชชีน (IBM) พุ่งขึ้น 9.5%, หุ้นคอมแคสต์ ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อสารรายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 3.4% และหุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ ทะยานขึ้น 10.3% หลังจากทั้ง 3 บริษัทเปิดเผยกำไรและรายได้ที่สูงกว่าคาดในไตรมาส 4/2566

หุ้นโบอิ้ง ร่วงลง 5.7% หลังจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) มีคำสั่งระงับแผนการของโบอิ้งในการเพิ่มสายการผลิตเครื่องบินรุ่น 737 MAX จนกว่า FAA จะมั่นใจได้ว่าปัญหาการควบคุมคุณภาพที่ถูกพบระหว่างการตรวจสอบนั้นได้รับการแก้ไขแล้ว

ข้อมูลจากแอลเอสอีจี (LSEG) ระบุว่า บริษัทในดัชนี S&P500 ที่ได้รายงานผลประกอบการไปแล้วนั้น มี 82% ที่รายงานผลประกอบการสูงกว่าคาด เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่บ่งชี้ว่าบริษัทที่มีผลประกอบการสูงกว่าคาดอยู่ที่ระดับ 67%

นักลงทุนจับตารายงานผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ในสัปดาห์หน้า ซึ่งรวมถึงแอปเปิ้ล, ไมโครซอฟท์, อะเมซอน, อัลฟาเบท และเมตา แพลตฟอร์มส์

สำหรับข้อมูลแรงงานที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 25,000 ราย สู่ระดับ 214,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 200,000 ราย

นักลงทุนรอดูการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนธ.ค.ของสหรัฐในวันนี้ เวลาประมาณ 20.30 น.ตามเวลาไทย โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top