Power of The Act: ความรับผิดชอบของผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่ต้องเป็นมากกว่าการสร้างกำไร

เมื่อการผลิต ใช้งาน และของเสียจากแบตเตอรี่นั้นทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดภาระของประเทศในการจัดการของเสียจากแบตเตอรี่ที่หมดสภาพการใช้งานแล้ว ความรับผิดชอบของผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่ไปไกลกว่าแค่ผลิตแบตเตอรี่โดยอาศัยต้นทุนที่ต่ำที่สุดและขายให้ได้กำไรสูงสุด

นอกจากนี้ EU Regulations 2023/1542 ซึ่งเป็นกฎหมายของสภาพยุโรปว่าด้วยแบตเตอรี่และของเสียจากแบตเตอรี่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเทศสมาชิกที่จะมีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่นั้นจะมีต้องมีการกำหนดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่จะต้องมีความรับผิดชอบที่ “ถูกขยาย” (Extended Producer Responsibility หรือ “EPR”) ให้ครอบคลุมช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของแบตเตอรี่ และจะต้องมีความรับผิดชอบทางการเงิน (Finance) การเก็บและการดำเนินการรีไซเคิลแบตเตอรี่อีกด้วย ดังปรากฏในเจตนารมณ์ในย่อหน้าที่ 101

จากข้อค้นพบข้างต้น หากประเทศไทยจะรองรับอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่แล้ว ผู้เขียนเห็นว่าระบบกฎหมายไทยนั้นจะต้องถูกพัฒนาให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่นั้นต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากกว่ามีหน้าที่แค่ผลิตและสร้างกำไรจากการจำหน่ายแบตเตอรี่ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ต้องมองให้ไกลกว่าเดิม ต้องรับผิดชอบต่อของเสียที่เกิดจากแบตเตอรี่ที่หมดสภาพอีกด้วย

 

มาตรฐานการผลิตแบตเตอรี่

 

ผู้ผลิตจะต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายในการผลิตแบตเตอรี่ที่ไม่มีสสารต้องห้ามตามกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่ที่ถูกผลิตขึ้นเป็นอันตรายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะต้องพิจารณาว่าสสารใดที่ผู้ผลิตในประเทศไทยไม่อาจนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตได้ ทั้งนี้ อาจกำหนดข้อห้ามดังกล่าวเป็นช่วงเวลาตามแนวทางของสหภาพยุโรป (Annex I ของ EU Regulations 2023/1542) เช่น กำหนดห้ามการใช้สสารบางชนิดในอนาคต โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นอย่างชัดเจน

ผู้ผลิตจะต้องไม่มีดุลพินิจที่จะกำหนดคุณสมบัติและคุณภาพของแบตเตอรี่ที่จะผลิตขึ้นได้เอง แต่จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้แบตเตอรี่ที่ถูกผลิตขึ้นสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความทนทานในการใช้งาน (การใช้งานที่นานขึ้นย่อมหมายความว่าแบตเตอรี่เหล่านี้จะกลายเป็นของเสียช้าลง) นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังมีหน้าที่ต้องแสดงข้อมูลและรายละเอียดของตัวแบตเตอรี่เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคอีกด้วย

ในส่วนของแบตเตอรี่เพื่อระบบกักเก็บพลังงาน (Stationary Battery Energy Storage System) ซึ่งถูกออกแบบและผลิตสำหรับการกักเก็บและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือกักเก็บเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้านั้น ผู้ผลิตแบตเตอรี่ประเภทนี้จะต้องผลิตให้มีคุณสมบัติและคุณภาพที่กฎหมายกำหนดโดยเฉพาะ เพื่อให้มีความปลอดภัยในการใช้งานตามปกติ (Safe During Their Normal Use)

นอกจากนี้ EU Regulations 2023/1542 ยังกำหนดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ต้องจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพหรือศักยภาพของแบตเตอรี่ (ที่อาจเสื่อมถอยลง) ตามระยะเวลาการใช้งาน ตลอดจนอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่คาดหมายได้ (Expected Lifetime)

ในประเทศไทยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเช่น คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) (กระทรวงอุตสาหกรรม) ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 สามารถนำเอาแนวทางของ EU Regulations 2023/1542 มาพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย

 

การติดฉลากและการให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับแบตเตอรี่

 

ฉลากหรือข้อมูลที่ผู้ผลิตแบตเตอรี่นั้นจะต้องไม่ได้มีเพียงข้อความที่กระตุ้นหรือจูงใจให้มีการบริโภคเท่านั้น หากแต่จะต้องมีข้อความที่จำเป็นต่อการคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคอีกด้วย การติดฉลากและการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแบตเตอรี่ในยุโรปมุ่งเน้นไปที่การให้ข้อมูลที่ชัดเจนและครอบคลุมเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถทำการเลือกใช้และดูแลรักษาแบตเตอรี่ของตนได้อย่างเหมาะสม

Annex VI กำหนดต้องมีข้อความดังต่อไปนี้ (1) ข้อความที่ระบุถึงตัวผู้ผลิตแบตเตอรี่ (2) ประเภทของแบตเตอรี่ (3) สถานที่ผลิตซึ่งจะต้อแสดงถึงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของโรงงานผลิต (4) วันที่ผลิตซึ่งจะต้องแสดงทั้งเดือนและปีที่ผลิต (5) น้ำหนักของแบตเตอรี่ (6) ความจุของแบตเตอรี่ (7) องค์ประกอบทางเคมี (8) วัตถุอันตรายที่เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่ไม่ใช่สารปรอท สารแคดเมียม หรือสารตะกั่ว (9) สารที่ใช้ในการระงับหรือดับ (Extinguishing Agent) และ (10) วัตถุดิบที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก (Critical Raw Materials) ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 0.1% โดยน้ำหนัก ดังปรากฏตาม Part A ของ Annex VI

Part B ของ Annex VI กำหนดให้ผู้ผลิตต้องจัดให้มีสัญลักษณ์แสดงให้มีการแยกแบตเตอรี่จากการจัดเก็บของเสียหรือขยะอื่นตามภาพ นอกจากนี้ Part C ของ Annex VI กำหนดให้ผู้ผลิตต้องจัดให้มี “QR Code” ซึ่งแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนและมีขนาดที่เหมาะสมในการใช้งาน

ในประเทศไทยนั้น กฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลากและสามารถกำหนดเนื้อหาและรายละเอียดของฉลากสามารถยกตัวอย่างได้เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 30 วรรคหนึ่งของพระราชบัญญัติดังกล่าว (ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2541) บัญญัติให้สินค้าที่ผลิตเพื่อขายโดยโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 บัญญัติถึงเนื้อหาและรายละเอียดของฉลาก

นอกจากนี้ ยังให้อำนาจแก่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับข้อความของฉลาก ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลากนี้ สามารถถูกพัฒนาและใช้บังคับเพื่อคุ้มครองประโยชน์และความปลอดภัยของผู้บริโภคจากการใช้แบตเตอรี่ในประเทศไทยได้

 

หน้าที่ของผู้ผลิตแบตเตอรี่ : การบริหารจัดการซากแบตเตอรี่

 

จากการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบกับ EU Regulations 2023/1542 ของสหภาพยุโรปประเทศไทยจะต้องจัดให้มีระบบการลงทะเบียนเพื่อติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ผลิตแบตเตอรี่ในการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด และกำหนดให้ผู้ผลิตทุกรายต้องเข้าร่วมในระบบการติดตามตรวจสอบดังกล่าว

นอกจากนี้ กฎหมายต้องกำหนดให้ผู้ที่ผลิตแบตเตอรี่ต้องมีความรับผิดชอบที่ถูกขยายให้ครอบคลุมช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของแบตเตอรี่ ยกตัวอย่างเช่น ควรมีการกำหนดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ต้องผลิตและประกอบกิจการในลักษณะการป้องกันมิให้เกิดของเสียเป็นลำดับแรก แล้วถึงจะระบุการเตรียมการเพื่อการใช้ซ้ำ การรีไซเคิล การกู้คืน และการจำหน่ายหรือกำจัดทิ้งเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งตาม EU Directive 2008/98/EC จะเรียกว่า “Waste Hierarchy”

ตาม Article 60 ของ EU Regulations 2023/1542 แบตเตอรี่ที่กลายเป็นของเสียแล้วจะต้องถูกจัดเก็บโดยผู้ผลิตและจะต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินการให้แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ขนาดเบา (Light Means of Transport หรือ LMT Batteries) ที่กลายเป็นของเสียซึ่งตนเป็นผู้จำหน่ายหรือนำเข้าสู่ตลาดนั้นจะถูกจัดเก็บโดยวิธีการเฉพาะแยกจากของเสียอื่น โดยจะต้องดำเนินการ เช่น จัดให้มีระบบการเก็บแบตเตอรี่ซึ่งกลายเป็นของเสียคืน และจะต้องดำเนินการเก็บแบตเตอรี่ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นของเสียนั้นโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าหน้าที่และความรับผิดชอบในการป้องกันมิให้เกิดของเสียจากแบตเตอรี่ตลอดจนการจัดเก็บแบตเตอรี่ที่กลายเป็นของเสียหรือหมดสภาพที่จะใช้งานแล้วนั้นมิได้เป็นภาระของหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะเท่านั้น หากแต่ยังเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ผลิตแบตเตอรี่อีกด้วย

โดยสรุป หากประเทศไทยจะเปิดและส่งเสริมให้มีการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยแล้ว รัฐจะต้องพัฒนากฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่มีหน้าที่ในการผลิตแบตเตอรี่ที่มีคุณสมบัติและคุณภาพที่มีความปลอดภัย ยั่งยืน และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด กฎหมายที่เกี่ยวข้องอาจไม่ได้มีเพียงกฎหมายว่าด้วยกำกับดูแลการจัดตั้งและประกอบกิจการโรงงานหรือมาตรฐานอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่ยังอาจจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้งานแบตเตอรี่ หน้าที่ตามกฎหมายนั้นควรจะขยายให้มีขอบเขตไปถึงการป้องกันไม่ให้เกิดของเสียตลอดจนหน้าที่ในการจัดเก็บของเสียจากแบตเตอรี่ที่ตนผลิตและจำหน่ายอีกด้วย

ผู้เขียนเห็นว่ากฎหมายนั้นไม่ได้มีภารกิจเพียงกำหนดหน้าที่และบทลงโทษในกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายเท่านั้น หากแต่ยังมีภารกิจในการทำให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ต้องรับต้นทุนในการทำให้แบตเตอรี่นั้นมีความยั่งยืนและรับต้นทุนที่เกิดจากการบริหารจัดการของเสียจากแบตเตอรี่ที่ตนผลิตและจำหน่ายอีกด้วย

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top