นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า เศรษฐกิจรัสเซียยังคงเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่า IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม
เศรษฐกิจรัสเซียสามารถฟื้นตัวได้อย่างเหนือความคาดหมาย แม้เผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรหลายระลอกจากชาติตะวันตกเป็นเวลานานเกือบ 2 ปีนับตั้งแต่ที่รัสเซียส่งทหารเข้าทำสงครามในยูเครน
ในช่วงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจรัสเซียในปี 2567 เป็นสองเท่า โดยระบุว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัว 2.6% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.1%
อย่างไรก็ดี นางกอร์เกียวามองว่าเศรษฐกิจรัสเซียซึ่งมีมูลค่าราว 145 ล้านดอลลาร์นั้น อาจจะเผชิญกับปัญหามากขึ้นที่รออยู่ข้างหน้า
“สิ่งที่กำลังบอกเราก็คือ นี่เป็นเศรษฐกิจสงคราม (war economy) เมื่อคุณมองดูที่รัสเซียในขณะนี้ คุณจะเห็นการผลิตด้านการทหารที่เพิ่มขึ้น แต่การอุปโภคบริโภคอ่อนแอลง ซึ่งสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในยุคสหภาพโซเวียต นั่นคือการผลิตอยู่ในระดับสูง แต่การอุปโภคบริโภคอยู่ในระดับต่ำ” นางกอร์เกียวากล่าวกับผู้ดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีบนเวทีประชุม “World Governments Summit” ซึ่งจัดขึ้นที่นครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
การใช้จ่ายด้านการทหารของรัสเซียพุ่งขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่สงครามในยูเครนเปิดฉากขึ้น โดยในเดือนพ.ย. 2566 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้อนุมัติงบประมาณที่เพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหารขึ้นสู่ระดับ 30% ของการใช้จ่ายด้านการคลัง และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ในปี 2567 จากระดับของปี 2566
นอกจากนี้ ข้อมูลที่นักวิชาการด้านการอพยพถิ่นฐานรวบรวมได้ในเดือนต.ค. 2566 พบว่า มีประชาชนกว่า 800,000 คนอพยพออกจากรัสเซีย โดยส่วนใหญ่เป็นคนงานที่มีทักษะในด้านต่าง ๆ เช่นไอทีและวิทยาศาสตร์
“ในความเป็นจริงแล้ว ดิฉันคิดว่าเศรษฐกิจรัสเซียกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก เนื่องจากการไหลออกของประชากร และเป็นเพราะว่ารัสเซียสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อยลง อันเนื่องมาจากการถูกคว่ำบาตร” นางกอร์เกียร์วากล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 67)
Tags: IMF, คริสตาลินา กอร์เกียวา, รัสเซีย, เศรษฐกิจรัสเซีย