สภาพัฒน์ หั่นเป้า GDP ปี 67 เหลือโต 2.2-3.2% หลังปี 66 โตต่ำคาด แนะต้องใช้มาตรการการเงินช่วยขับเคลื่อน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 67 เหลือโต 2.2-3.2% จากเดิมคาดโตราว 2.7-3.7% หลังภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2566 ขยายตัวได้ 1.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565 ตามการลดลงต่อเนื่องของภาคการส่งออก รวมทั้งการลดลงของการใช้จ่ายของรัฐบาล และการลงทุนภาครัฐ

ส่วนตัวเลข GDP ในไตรมาส 4/66 ขยายตัวได้ 1.7% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการเร่งขึ้น การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนยังขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลลดลง เป็นผลจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการในระบบตลาด และการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดลง ประกอบกับการลงทุนรวมลดลง

 

  • แนะดึงมาตรการการเงิน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง ในช่วงถัดไป คือ มาตรการด้านการเงิน น่าจะต้องเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการลดภาระภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ในส่วนของมาตรการดอกเบี้ยที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง และทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแคบลงโดยเฉพาะในส่วนของภาคครัวเรือน และผู้ประกอบการ SME รวมถึงการใช้มาตรการผ่อนคลายในกรณีชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำ ซึ่งปัจจุบันใช้อยู่ที่อัตรา 8% ของยอดชำระรวม โดยอาจพิจารณากลับไปใช้ที่ขั้นต่ำ 5% อีกสักระยะ เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อย มีกำลังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

โดยเห็นว่าถ้าดำเนินการได้เร็ว ก็จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้พอสมควร อย่างไรก็ดี ก็คงต้องขึ้นกับการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดูว่า กลุ่มที่ใช้การชำระขั้นต่ำมานานแล้ว ต้องดึงมาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อมีภาระหนี้ลดลง และช่วยให้เกิดการชำระหนี้ได้ดีขึ้น และยังมีเงินเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยเฉพาะกรณีการผ่อนที่อยู่อาศัย โดยเห็นว่าหากสามารถพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยได้เร็ว ก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องหนี้สินลงได้

ทั้งนี้ ในส่วนของการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย จะต้องทำให้เกิดประโยชน์ทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SME ส่วนความกังวลว่ายิ่งลดดอกเบี้ยแล้ว จะทำให้ภาคครัวเรือนกลับไปก่อหนี้เพิ่มขึ้นนั้น ก็อาจจะต้องมีการออกมาตรการกำกับดูแลเรื่องการให้สินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อป้องกันการก่อหนี้เกินตัว ซึ่งต้องมีหลายมาตรการเติมเข้าไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในเชิงลบจากการปรับลดดอกเบี้ย

“มาตรการด้านการเงิน น่าจะต้องเข้ามาช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการลดภาระภาคครัวเรือน หรือภาคธุรกิจ SME โดยเฉพาะมาตรการดอกเบี้ยต่างๆ ที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง ทั้งอัตราดอกเบี้ย และส่วนต่างดอกเบี้ย โดยเน้นที่ภาคครัวเรือน และธุรกิจ SME โดยต้องทำให้ Net Interest Margin แคบลง รวมทั้งมาตรการผ่อนคลายในเรื่องสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่ง SME มีการใช้สินเชื่อบัตรเครดิตในการทำธุรกิจด้วย เดิมมาตรการชำระขั้นต่ำที่ 5% ได้สิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่ ธ.ค. 66 และปี 67 ขยับมา 8% เมื่อดูการเติบโตทางเศรษฐกิจในขณะนี้ รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน คิดว่ามาตรการนี้ควรกลับไป 5% อีกระยะ เพื่อให้ SME ที่ใช้สินเชื่อบัตรเครดิตทำธุรกิจ ได้มีกำลังการใช้จ่ายมากขึ้น และใช้ประกอบกับมาตรการดอกเบี้ย ก็น่าจะช่วยให้สินเชื่อในชั้นที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ ไม่กลายเป็น NPL (สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) และทำให้สถานการณ์ดีขึ้น…ต้องรบกวน ธปท.พิจารณาตรงนี้ ค่อนข้างจริงจัง ถ้าทำได้เร็ว ก็จะมีส่วนช่วยได้พอสมควร” เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ

สำหรับมาตรการด้านการคลังที่จะนำมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น คงต้องมาพิจารณาว่าการออกแบบมาตรการ จะสามารถช่วยกระตุ้นการผลิตสินค้า หรือกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้นได้อย่างไร โดยสภาพัฒน์จะขอไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

 

  • หั่น GDP ปี 67 เหตุเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 2.2-3.2% (ค่ากลางที่ 2.7%) นี้ ยังไม่ได้รวมผลจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล และการปรับประมาณการลดลงจากเดิม เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะจากปัญหาความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ประกอบกับเศรษฐกิจจีนยังมีปัญหาจากภายในประเทศ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบมาถึงภาคการส่งออกของไทยได้

“ปีนี้ เรามองว่าแม้การส่งออกจะเติบโตได้ดี แต่ในระยะถัดไป ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังไม่แน่นอนว่าจะมีอะไรตามมา ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่ยังมีปัญหาภายใน ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกไทยได้ ในขณะที่เศรษฐกิจในประเทศเอง ยังเติบโตได้ดี” นายดนุชา ระบุ

โดยสมมติฐานสำคัญที่ใช้ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ คือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก 2.7%, อัตราการขยายตัวของปริมาณการค้าโลก 3.0%, อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 34.30-35.30 บาท/ดอลลาร์, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 80-90 บาท/ดอลลาร์, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน, รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.22 ล้านล้านบาท และการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยคาดว่าอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 67 อยู่ที่ 90.5% ของวงเงินรวม และอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุน อยู่ที่ 65%

 

*ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ประกอบด้วย

1. การกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้า ตามการฟื้นตัวของการค้าโลก โดยปีนี้คาดส่งออกไทย ขยายตัว 2.9%

2. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการลงทุนภาคเอกชน คาดขยายตัว 3.5% ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวดีของมูลค่าและปริมาณการนำเข้า โดยเฉพาะวัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุน

3. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคในประเทศ โดยคาดไว้ที่ 3.0% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยปรับตัวอยู่ในระดับที่ดี ขณะที่ตลาดแรงงานนั้น อัตราการว่างงานลดลง

4. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวไทย ที่กระจายไปยังเมืองรองมากขึ้น

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ

1. การลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง โดยเป็นผลจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณในปีงบ 67 รวมถึงการลดลงของพื้นที่ทางการคลัง ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป

2. สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ธุรกิจ SME และลูกหนี้ภาคเกษตร

3. ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร ซึ่งสภาวะเอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้ำผฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร

4. ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค ซึ่งอาจนำไปสู่ความผันผวนของระดับราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่จะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพิ่มเติม

 

สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 นี้ สภาพัฒน์ เห็นว่าควรต้องให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้

1. การติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ควบคู่ไปกับการทบทวนมาตรการทางภาษีให้มีความเหมาะสม

2. การยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

3. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์

4. การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2564 – 2566 ควบคู่ไปกับการเร่งรัดอนุมัติโครงการที่ได้เสนอขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้า

5. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยจัดทำปฏิทินการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี และการสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ Long-term resident visa (LTR) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเข้ามาพำนักระยะยาว

6. การดำเนินมาตรการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกร ผ่านการส่งเสริมรูปแบบและพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของสภาพอากาศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้ายมากขึ้น

7. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ในระหว่างที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ และการเตรียมความพร้อมโครงการที่จะต้องมีการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้โดยเร็วเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีผลบังคับใช้

 

โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค?

ส่วนความกังวลว่าไตรมาส 1/67 จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิคหรือไม่นั้น (การติดลบเมื่อเทียบรายไตรมาส ต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส) นายดนุชา กล่าวว่า ขณะนี้ยังเพิ่งผ่านไปเพียง 1 เดือน ต้องรอพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจอีกหลายตัว เช่น การส่งออก การบริโภค การท่องเที่ยว และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหากประเมินเบื้องต้น การส่งออกในเดือนม.ค.มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาจากไตรมาส 4/66 ส่วนการบริโภคในประเทศ และการท่องเที่ยวก็ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งหากข้อมูลที่แท้จริงออกมาในทิศทางที่ได้ประเมินไว้ ก็เชื่อว่าโอกาสที่จะเห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิคจะมีน้อยลง

“หากเป็นแบบนี้ โอกาสที่จะเกิด Technical recession ก็คงจะลดลง แต่ต้องติดตามข้อมูลก่อน เพราะเพิ่งผ่านมาเดือนเดียว แต่แรงส่งต่างๆ เช่น ส่งออกยังน่าจะไปได้ ภาคการผลิตก็ปรับตัวขึ้นมาได้หลายอุตสาหกรรม ถ้าส่งออกได้มากขึ้น ก็น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไตรมาส 1 ไม่ประสบปัญหาดังกล่าว” นายดนุชา ระบุ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top