GGC ตั้งหลักใหม่วางกลยุทธ์โตยั่งยืนปั๊ม EBITDA สู่เป้า 3 พันล้านใน 3 ปี ชูเรือธง Green Product

บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) ตั้งหลักใหม่ประกาศเดินหน้าสร้างโอกาสการเติบโตสู่ความสำเร็จอย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ The New Chapter of GGC to be the Sustainable Growth Business หลังจากล้างบ้านผ่านพ้นวิกฤติในอดีตสินค้าคงคลังสูญหายที่สร้างความเสียหายสูงถึงกว่า 2 พันล้าน

“คดีความตอนนี้ มีคดีที่ถึงที่สุดแล้วหลายคดี และเราก็ชนะเกือบทั้งหมด แต่มีคดีเดียวที่เราไม่ชนะ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการฎีกา อย่างไรก็ตามในมุมของผลกระทบจากคดีน่าจะไม่มีแล้ว เนื่องจากเราได้สำรองไว้ค่อนข้างครบถ้วน ขณะเดียวกันมุมของคดีที่เราชนะ ต้องติดตามต่อว่าเราสามารถจะดำเนินการเพื่อยึดอายัดหรือลดความเสียหายได้อย่างไร” นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ GGC กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายทางธุรกิจที่จะรักษา EBITDA ปีนี้ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงปี 66 ที่ 800 ล้านบาท ก่อนจะผลักดันให้เพิ่มขึ้นไปสู่ 3,000 ล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า หรือ ปี 69 ด้วยการปรับกระบวนการวิธีดำเนินธุรกิจใหม่ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ สร้าง High Value Product พร้อมรุกธุรกิจอาหารเสริมที่เป็นธุรกิจเรือธงใหม่ภายใต้แบรนด์ “Nutralist”

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของ bottom line จะมีกำไรหรือไม่ ยอมรับว่ายังมีประเด็นที่ต้องติดตาม อาทิ ภาวะปัจจุบันที่ทำให้บริษัทอาจต้องตั้ง Stock loss และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินธุรกิจหลัก (core operation) เชื่อว่ายังเป็นบวก

ทั้งนี้ GGC แจ้งผลประกอบการปี 66 ขาดทุน 201.52 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.20 บาท ลดลงจากปีก่อนที่กำไร 953.3 ล้านบาท และกำไรต่อหุ้น 0.93 บาท

สำหรับแนวโน้มผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทในปีนี้ แฟตตี้แอลกอฮอล์ ดีมานด์คงไม่ลดลง แม้จะได้รับผลกระทบจากอัตรากำไรในตลาดจีนลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศจีนเอง แต่บริษัทก็ได้ขยายไปสู่ตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ทำให้ปริมาณขายแฟตตี้แอลกอฮอล์เติบโตขึ้นจากปี 66

ส่วนเมทิลเอสเทอร์ราคาทรงตัว เนื่องจากภาครัฐยังคงนโยบายให้ใช้ B7 และดีมานด์ยังปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในด้านซัพพลายยังสูงกว่าความต้องการในตลาดประมาณ 50-60% ทำให้การแข่งขันสูง ซึ่งบริษัทได้ทำสัญญาระยะยาวเพื่อที่จะวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ

ยุทธศาสตร์ The New Chapter of GGC to be the Sustainable Growth Business

ผ่านการมุ่งมั่นตาม 3 กลยุทธ์หลัก คือ เข้มแข็ง เติบโต ยั่งยืน

เข้มแข็ง (Enhance Competitiveness) : สร้างความเป็นเลิศในด้านการผลิต มุ่งเน้นการลดต้นทุนในองค์กร (Cost Optimization) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงินและสร้างมูลค่าสูงสุดจากทรัพยากรที่ใช้ในกิจการ การปรับปรุงการใช้วัตถุดิบ (Feedstock Optimization) โดยเน้นการใช้วัตถุดิบทางเลือกอย่างเหมาะสม การเพิ่มยอดขายของสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบ RSPO (FA) และการจัดการด้าน Operation Excellence โดยบริหารจัดการการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหลัก (Core Business) อาทิ เมทิลเอสเทอร์ (ME) แฟตตี้แอลกอฮอล์ (FA) และเอทานอล (EtOH)

เติบโต (Growth Portfolio) : ปรับ Portfolio ให้ชัดเจนสำหรับการลงทุนใน 3 กลุ่มธุรกิจ Bioenergy, Biochemicals และ Food Ingredients & Pharmaceutical เพื่อความพร้อมในการปรับตัวให้สอดรับกับความท้าทายและสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนด้วยการต่อยอดธุรกิจเดิมสู่การเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ High Value Product โดยการขยายพอร์ตการลงทุนใน 3 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย

– ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (BioEnergy Business) เป็นความร่วมมือกันระหว่าง PTTGC และ GGC ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาโครงการและความเป็นไปได้ของโครงการ ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านตลาด เทคโนโลยี การผลักดันด้านนโยบาย และการสร้างความร่วมมือกับสายการบินโดยมี 3 โครงการ ดังนี้

โครงการน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ : ปัจจุบันได้ศึกษาความเป็นไปได้และดำเนินการปรับปรุงโรงงานเพื่อนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ผลิตเป็นน้ำมันอากาศยานชีวภาพ โดยคาดว่าจะดำเนินการระยะที่ 1 แล้วเสร็จ และดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 68

โครงการ ATJ : เป็นการศึกษาแผนการลงทุนในการต่อยอดผลิตภัณฑ์เอทานอลเพื่อผลิตเป็นน้ำมันอากาศยานชีวภาพ โดยมีแผนที่จะดำเนินการภายในปี 73

โครงการ Green Methanol : เป็นการศึกษาเพื่อต่อยอด และขยายปลายทางธุรกิจไปสู่ตลาด Marine Biofuel และเพื่อตอบสนองต่อแผนกลยุทธ์ Decarbonization

– ธุรกิจเคมีชีวภาพ (Bio Chemical Business) ธุรกิจ FA, Oleochemical Specialty & Derivative อยู่ระหว่างการขยายธุรกิจ เพื่อให้ได้ผลผลิต Oleochemicals ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์สีเขียว ผ่านพันธมิตร

– ธุรกิจ Food Ingredients & Pharmaceutical มุ่งเน้นธุรกิจกลุ่ม Food Ingredients & Pharmaceutical , มุ่งเน้นเป็น Brand Owner โดยดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Food Ingredients & Pharmaceutical

ล่าสุด บริษัทขยายธุรกิจกลุ่ม Food Ingredients & Pharmaceutical ด้วยการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็น Green Product เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการมีสุขภาพดีภายใต้แบรนด์ “Nutralist” เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ คือ Astaxanthin และ Probiotic ถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดธุรกิจเดิมสู่การขยายพอร์ตการลงทุนในธุรกิจใหม่ เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์นี้มีความต้องการสูงและตอบสนองต่อ Lifestyle ของผู้บริโภคที่รักสุขภาพในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจของ GGC เติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนในอนาคต

พร้อมตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจกลุ่ม Food Ingredients & Pharmaceutical ไว้ที่ 10% ของ EBITDA หรือราว 300 ล้านบาทภายในปี 69 ภายใต้ 4A strategy คือ Awareness สร้าง Brand Awareness ในกลุ่มเป้าหมายโดยวางแผนร่วมกับ Partner ด้านการแพทย์และสุขภาพ พร้อมขยายสู่ Social Media เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว Afordability : Nutralist ผลิตจาก World Class Food Ingredient Producers มุ่งหวังให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงทุกเจนเนอเรชั่น Accessibility วางเกมรุกหลากหลายช่องทางครบทุกมิติทั้ง Online และ Offline และ Acceptability ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าควบคู่ไปกับความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม

GGC มีแผนพัฒนาใหม่ๆ ด้วยกระบวนการผลิตที่ทันสมัยและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของทุกเจนเนอเรชั่นที่ใส่ใจรักสุขภาพ ภายใต้สโลแกน Extract Your New Life จากแผนขยายพอร์ตในการสร้างการเติบโตผ่านการลงทุนต่อยอดธุรกิจเดิมของบริษัทฯ รวมถึงการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ โดยบริษัทมีเป้าหมายในการปรับ Portfolio เพื่อให้ตอบโจทย์ Mega Trend ที่จะสร้างการเติบโตจากธุรกิจใหม่มากกว่า 50% (New Business)

ส่วนด้านยั่งยืน (Sustainability Development) : มุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG และได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมทั้งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจาก Decarbonization โดย GGC ยังคงเดินหน้าเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทได้กำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อวัดประสิทธิผลในระยะสั้นในปี 2030 เพื่อที่จะลด CO2 ให้ได้ 20%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 67)

Tags: ,
Back to Top