นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เผยความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ประเด็นโครงสร้างร่วมระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับโครงการรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองนั้น รฟท.พิจารณาแนวทางที่ดีที่สุดคือ ให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) เป็นผู้ก่อสร้างทั้งหมด
หาก รฟท.จะก่อสร้างในส่วนของโครงการรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 เอง ต้องประกวดราคาหาผู้รับเหมาใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนาน ขณะที่สัญญา 4-1 มีวงเงินค่าก่อสร้างอยู่ที่ 9,207 ล้านบาท แต่มีกรอบวงเงิน 4,000 ล้านบาท ต้องมีขั้นตอนในการเสนอขอเพิ่มกรอบวงเงินในสัญญาอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท
ในการหารือของคณะกรรมการร่วม ได้แก่ รฟท., สำนักงานคณะกรรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) , บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) และที่ปรึกษาฯ ล่าสุดทางบริษัท เอเชีย เอรา วันฯ ตอบรับเป็นผู้ก่อสร้างโครงสร้างร่วมทั้ง 2 โครงการ โดยเอกชนได้เสนอเงื่อนไขทางการเงิน 3-4 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ การหักลบค่างานโยธาโครงสร้างร่วม สัญญา 4-1 รถไฟไทย-จีน จำนวน 9,207 ล้านบาท กับค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) จำนวน 10,671.09 ล้านบาท ที่เอกชนต้องจ่ายตามเงื่อนไขสัญญาร่วมทุนฯ
ข้อเสนอดังกล่าว แตกต่างจากเดิมที่เคยมีการเจรจากันว่าเอกชนจะรับภาระค่าก่อสร้างงานโยธา โครงสร้างร่วมสัญญา 4-1 ของโครงการรถไฟไทย-จีน โดยจะนำไปปรับระยะเวลาการชำระคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้น จากที่สัญญากำหนดปีที่ 6 (นับจากเข้าพื้นที่ก่อสร้าง) แต่ข้อเสนอใหม่ เป็นเรื่องการหักจากค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียด คาดว่าจะให้ได้ข้อยุติภายใน 1 เดือน หรือภายในเดือน มี.ค.67
ก่อนหน้านี้ มีการปรับแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กรณีผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 และการให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ โดย รฟท.ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวนที่ 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสอีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท โดยให้เอกชนผ่อนจ่าย 7 งวด โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยนั้น ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เห็นชอบแล้ว หากได้ข้อสรุปว่าโครงสร้างร่วมรถไฟไทย-จีน จะหักจากค่าสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงก์ ก็จะต้องปรับเงื่อนไขและเสนอขอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ใหม่
“รฟท.อยากให้โครงการเดินหน้า และขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าโครงการจะไม่ไปต่อ ซึ่งเอกชนก็ยังต้องการเดินหน้า แต่ข้อสรุปที่ได้ ทุกฝ่ายจะต้องไม่เสียหาย รัฐไม่เสียประโยชน์ และอีอีซี ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการตามเป้าหมาย เพราะหากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไม่เกิด จะกระทบต่อมั่นใจในการลงทุนที่อีอีซี และโครงการอู่ตะเภาเมืองการบิน ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย” นายนิรุฒ กล่าว
ส่วนการออกหนังสือแจ้งเริ่มการก่อสร้าง (Notice to Proceed : NTP) ให้เอกชนตามสัญญาฯ กำหนดมีเงื่อนไขเรื่องรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งได้รับการขยายเวลาส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 3 ออกไปถึงวันที่ 3 พ.ค.67 หากเรียบร้อย ยังเหลือกรณีการส่งมอบพื้นที่ TOD มักกะสันขนาด 150 ไร่ โดยเอกชนต้องจดทะเบียนสิทธิการเช่า ซึ่งพื้นที่มักกะสันบางส่วน ยังเป็นลำรางสาธารณะที่จะต้องขอถอนสภาพลำรางสาธารณะให้เรียบร้อย ยังติดอยู่ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่ง รฟท.คาดว่าจะสามารถเจรจากับเอกชน โดยเสนอที่ดินในส่วนอื่นทดแทนได้
“รฟท. มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ ไม่มีปัญหา ทั้งช่วงนอกเมือง จากสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และช่วงในเมือง บางซื่อ-พญาไท-ดอนเมือง พร้อมกับจะเร่งรัดให้ก่อสร้างโครงสร้างร่วมเป็นลำดับแรก เพื่อให้สอดคล้องกับการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน และเป้าหมายในการเปิดให้บริการปี 71” นายนิรุฒ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 67)
Tags: นิรุฒ มณีพันธ์, รถไฟความเร็วสูง, รฟท., สนามบิน