TBN จ่อเปิดตัวแพลตฟอร์มตัวแทนขายประกัน Q2/67 ส่องหาพันธมิตรทางธุรกิจสร้าง Synergy

นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น (TBN) เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในปี 2567 ประเมินว่ายังมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง บริษัทฯ มีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทในรูปแบบไวท์ เลเบล (White Label) หรือ เทมเพลต (Templatize) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงการพัฒนาโครงการ ช่วยลดเวลาและต้นทุนค่าแรงของการพัฒนา ในเบื้องต้นบริษัทวางแผนที่จะพัฒนาระบบ Intelligent Process Automation, Insurance Agent Platform และ Insurance Broker Platform เป็นลำดับแรก

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มบุคลากรด้านดิจิทัลประมาณ 10% เพื่อรองรับกับโครงการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการขยายทีม High Code เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี Low Code ได้อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพหรือปรับแต่งซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งมีแผนที่จะขยายบุคลากรด้านการขายเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการขยายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมใหม่และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ใหม่ไปในฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น

อย่างไรก็ดี ในปีนี้บริษัทได้จัดสรรงบประมาณเพื่อศึกษาการลงทุนและเป็นพันธมิตรในบริษัทอื่นๆเพิ่ม เสริมสร้างกลยุทธ์และต่อยอดทางด้านธุรกิจ โดยบริษัทมุ่งเน้นที่ธุรกิจที่จะส่งเสริมและสร้าง Synergy ระหว่างกัน ทั้งในส่วนของ Low Code และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

สำหรับผลประกอบการของบริษัทและบริษัทย่อยในปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 76.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.53 ล้านบาท หรือ 114% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 35.56 ล้านบาท มีรายได้จากการให้บริการ 438.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 77.90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22% โดยรายได้กลุ่มงานพัฒนาระบบดิจิทัลและงานบริการให้คำปรึกษา เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า 23.16 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14% ขณะที่งานบำรุงรักษาระบบและงานด้านเทคโนโลยี เพิ่มขึ้น 53.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% และรายได้อื่นๆเพิ่มขึ้น 11%

รายได้จากการให้บริการของกลุ่มงานพัฒนาระบบดิจิทัล และงานบริการให้คำปรึกษาของบริษัท มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกันเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนโครงการจากทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ทั้งนี้ บริษัทมีสัดส่วนรายได้สม่ำเสมอ (Recurring Income) ในปี 2566 อยู่ที่ 55% ของรายได้รวม เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปี 2565

“รายได้และกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นและสามารถควบคุมต้นทุนในการให้บริการและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ดีขึ้น ประกอบกับดอกเบี้ยจ่ายลดลง จากการลดลงของเงินกู้ยืม และจากการลดลงของค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI ทำให้ในงวดนี้บริษัทประหยัดภาษีได้ประมาณ 4.19 ล้านบาท ซึ่งทำให้อัตราภาษีลดลงจาก 20% เหลือ 15%”

นายปนายุ กล่าว

โดย ณ สิ้นปี 2566 กลุ่มบริษัทฯมีโครงการระหว่างดำเนินการที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) มูลค่างานประมาณ 224 ล้านบาท โดยรับรู้รายได้ราว 158 ล้านบาท ภายในปี 2567 นี้ และที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้ในปีถัดไป ซึ่งยังไม่รวมรายได้ประจำ (Recurring Income) และโครงการที่อยู่ระหว่างประมูลอีกราว 262 ล้านบาท ซึ่งมีโอกาสได้งานสูง ทั้งนี้บริษัทยังได้อานิสงส์จาก BOI ในการลดภาษีในปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตราภาษีลดลงจาก 20% เป็นประมาณ 11%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มี.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top