บมจ.บีพีเอส เทคโนโลยี (BPS) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 120,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ราคาเสนอขายหุ้นละ 0.90 บาท มูลค่าตามราคาบัญชี (Book Value) หุ้นละ 0.62 บาท ระยะเวลาเสนอขาย 27-29 มี.ค.67 โดยมีผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย คือ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินด้วย และผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย คือ บล.บียอนด์ และ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) บริษัทจะนำหุ้นสามัญเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai)
ที่มาของการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earning Ratio : P/E Ratio) ทั้งนี้ ราคาหุ้นละ 0.90 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E เท่ากับ 18.00 เท่า คำนวณจากผลประกอบการของบริษัทในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.66 ซึ่งมีกำไรสุทธิเท่ากับ 0.12 บาทต่อหุ้น เมื่อหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดหลัง IPO จำนวน 400 ล้านหุ้น (Fully Diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.05 บาท/หุ้น
สัดส่วนของหุ้นผู้มีส่วนร่วมในการบริหารที่ไม่ติด Silent Period จำนวน 6,883,952 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.72% ของจำนวนหุ้นหลัง IPO อย่างไรก็ตาม บริษัทได้นำหุ้นของบริษัทส่วนที่เหลือ silent period ที่ 55% ที่ถือโดยนางสาวภัทรภร แก้วโพธิ์คา จำนวน 5,806,452 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.45% ทำข้อตกลงไม่ขายหุ้นเท่ากับหุ้นที่ติด Silent Period และส่วนที่ถือโดยกรรมการและผู้บริหาร 0.27% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO ที่ถือโดย (1) นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร (2) นายเกียรติ อัชรพงศ์ (3) นางสาวประไพภรณ์ ธนเวโรจน์สกุล (4) นางสาวลัดดาวัลย์ นิลวงศ์ (5) นายบุญช่วย ก่อกิจโรจน์ ทำข้อตกลงกับบริษัทโดยสมัครใจที่จะไม่ขายหุ้นเป็นระยะเวลา 1 เดือน
บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ไปใช้ 1. โครงการขยายธุรกิจการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop) 30 ล้านบาท เพื่อขยายการขายหรือการบริการติดตั้งระบบไฟฟ้า Solar Rooftop แบ่งเป็น ลูกค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์แนวราบ และ ลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม
2. โครงการขยายธุรกิจนวัตกรรมบ้านอัจฉริยะ 26 ล้านบาท นำเสนอนวัตกรรม Green Home Solution เพื่อตอบสนองในเรื่องของ บ้านอยู่สบาย บ้าน Internet ความเร็วสูง บ้านประหยัดพลังงาน เป็น One Stop Service ในเรื่องอุปกรณ์ และงานติดตั้ง
3.โครงการไฟเบอร์ออพติกเพื่อการสื่อสาร Fiber to the Home (FTTX) 20 ล้านบาท ลงทุนในอุปกรณ์และการติดตั้ง งานเดินโครงข่ายไฟเบอร์ออพติก สำหรับโครงการประเภทคอนโดมิเนียม และอาคารสูง
4. โครงการศูนย์การเรียนรู้สำหรับช่างและบุคคลทั่วไปสำหรับงาน FTTX และ Solar Roof-top 2 ล้านบาท ประกอบด้วยศูนย์อบรมช่างเกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์เซลบนหลังคา และศูนย์อบรมช่างเกี่ยวกับการติดตั้งโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกเพื่อการสื่อสาร
และ 5. เงินทุนหมุนเวียนในกิจการ BPS มีชื่อเดิมคือ บริษัท บิ๊กไพศาล โปรเจค จำกัด ดำเนินธุรกิจเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อไฟฟ้าภายในอาคาร ที่ครอบคลุมทั้งท่อร้อยสายไฟและอุปกรณ์ต่อสาย (Conduit & Fitting) สายไฟ สวิตซ์ไฟ ปลั๊ก เบรคเกอร์ สายล่อฟ้า สินค้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และอุปกรณ์โซลาร์เซล รวมถึงบริการจัดหา ออกแบบ ติดตั้ง โครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคา และระบบควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้า โครงข่ายไฟเบอร์ออพติกเพื่อการสื่อสาร นอกจากนี้บริษัทได้ขยายธุรกิจไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายภายในบ้านอยู่อาศัยและอาคารเชิงพาณิชย์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มี.ค. 67)
Tags: BPS, บีพีเอส เทคโนโลยี