ประชุมบอร์ด SONP อัปเดตเม็ดเงินโฆษณาวงการสื่อ พร้อมรับเทรนด์ปี 67

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) สมัยที่ 13 ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 67 ณ ห้องประชุม WR PRIDE ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย โดยมี ดร. สร เกียรติคณารัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินิชิเอทีฟ ประเทศไทย (Initiative Thailand) และ ดร.ธราภุช จารุวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย บรรยายอัพเดทเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมสื่อ และแนะนำการวางแผนปรับตัวเทรนด์ ปี 2024

ดร.สร เกียรติคณารัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินิชิเอทีฟ ประเทศไทย เปิดเผยว่า เม็ดเงินในอุตสาหกรรมสื่อ ของปี 2567 อยู่ที่ 114,447 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 111,601 ล้านบาท โดยเม็ดเงินโฆษณาส่วนใหญ่ ยังอยู่ที่โทรทัศน์สูงสุด 46% ที่มูลค่า 53,213 ล้านบาท รองลงมาเป็น อินเทอร์เน็ต 29% ที่มูลค่า 33,679 ล้านบาท และ Outdoor 9% ที่มูลค่า 9,845 ล้านบาท โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้เม็ดเงินโฆษณาในสื่อโทรทัศน์จะสูงสุดเป็นอันดับ 1 แต่กลับพบว่าอัตราการขยายตัวลดลงจากปีก่อน -2.5% ในขณะที่เม็ดเงินโฆษณาในสื่ออินเตอร์เน็ต กลับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 10%

ทั้งนี้ พบว่าธุรกิจที่ซื้อสื่อโฆษณาสูงสุด 3 อันดับแรกของปีนี้ คือ อันดับ 1 ธุรกิจในกลุ่ม Skin care คิดเป็นสัดส่วน 16%เม็ดเงิน 5,040 ล้านบาท อันดับ 2 กลุ่มยานยนต์ คิดเป็นสัดส่วน 9% เม็ดเงิน 2,957 ล้านบาท และอันดับ 3 กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ คิดเป็นสัดส่วน 8% เม็ดเงิน 2,548 ล้านบาท แต่หากพิจารณาในแง่อัตราการเติบโต จะพบว่า กลุ่ม Skin care ซื้อโฆษณาเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 40% รองลงมา คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซื้อโฆษณาเพิ่มขึ้น 26% และกลุ่มค้าปลีก ซื้อโฆษณาเพิ่มขึ้น 16% ส่วนธุรกิจที่ซื้อสื่อโฆษณาลดลงมากสุด คือ กลุ่มธนาคาร ลดลงจากปีก่อน -4%

ดร.สร กล่าวว่า จะเห็นว่าในปีนี้ เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต มีอัตราการเติบโตสูงถึง 10% จากปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่ใช้ชีวิตอยู่กับอินเตอร์เน็ตเป็นเวลานานเฉลี่ยถึง 8 ชั่วโมง/วัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน ตลอดจนไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น การสั่งอาหาร การซื้อสินค้า การทำธุรกรรมทางการเงิน ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้เม็ดเงินโฆษณา ไหลไปอยู่ในสื่ออินเตอร์เน็ตเป็นอันดับ 2 รองจากโทรทัศน์ที่เป็นสื่อหลักอยู่แล้ว

โดยในปี 2567 เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตสูงสุด อยู่ที่ Meta (Facebook+Instagram) ที่มูลค่า 8,870 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 28% รองลงมา คือ Youtube ที่มูลค่า 4,477 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14% และอันดับ 3 Tik Tok ที่มูลค่า 3,070 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้จะมีเม็ดเงินโฆษณาทาง Meta สูงสุด แต่อัตราการเติบโตกลับไม่สามารถสู้ Tik Tok ที่มาแรงได้ ซึ่งมีข้อมูลพบว่า ในปี 2566 เม็ดเงินโฆษณาทาง Tik Tok เติบโตถึง 103% ส่วนปีนี้ คาดว่าการเติบโตจะอยู่ที่ 44% และยังเป็นการเติบโตที่สูงสุดเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นทางอินเตอร์เน็ต โดยยังคงแนวโน้มการเติบโตที่ดีต่อเนื่องในปี 2568

ดร.สร กล่าวว่า การโฆษณาดิจิทัลของไทยในปี 2567 มีแนวโน้มสดใสขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และภูมิทัศน์ดิจิทัลที่กำลังเติบโต ขณะที่เสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายเพิ่มเติมจากรัฐบาล เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนี้ ภูมิทัศน์ดิจิทัลที่เติบโตขึ้นและเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายในการโฆษณาดิจิทัลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปสรรคจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาจทำให้นักการตลาดต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

พร้อมมองว่า การโฆษณาดิจิทัลยังคงช่วยเพื่อเพิ่มการรับรู้ถึงและการเข้าถึงของแบรนด์ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยการใช้เครื่องมือการตลาดผ่านอีคอมเมิร์ยังคงเหนือกว่าเครื่องมืออื่นๆ เป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน ส่วนความสนใจและความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2567 จาก 27% หรืออันดับที่ 8 ในปีที่แล้ว มาเป็น 65% (อันดับที่ 2) ในปีนี้

ขณะเดียวกัน การใช้ Social Listening และ Social Analytic ก็นับว่าเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ได้รับความสำคัญ และความสนใจมากขึ้นในปีนี้ด้วยเช่นกัน

จากนั้น นายนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เป็นประธานการประชุมประจำเดือนมีนาคม โดยมีวาระที่สำคัญ ได้แก่ รับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม สมัยที่ 13 ครั้งที่ 2/2567 รายงานสถานะการเงิน เรื่องสืบเนื่อง ความคืบหน้าด้านการพัฒนาธุรกิจ ภายใต้โครงการ Premium Publisher Network- PPN

ส่วนด้านกิจกรรม ได้แก่ แนวทางการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ของสมาคมฯ โครงการเรียนรู้กับกูรูออนไลน์ (One Day Training) ปีที่ 8 ครั้งที่ 4 หัวข้อ Cyber Security โดย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ร่วมกับ SRAN

นอกจากนี้ มีการรายงานความคืบหน้า กิจกรรมประจำปี 2567 อาทิ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการผู้ผลิตข่าวรุ่นเยาว์ รุ่นที่ 8 และโครงการประกวด “รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2567 ซึ่งมีการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก เพื่อนำไปพัฒนากิจกรรมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top