ชัดเจน! บอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่ เคาะแหล่งเงิน-กลุ่มเป้าหมาย-เงื่อนไข เสนอครม.ในเม.ย. เริ่มใช้จ่าย Q4/67

คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้เห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

ดิจิทัลวอลเล็ต Digital Wallet ใครได้บ้าง เริ่มใช้เมื่อไร แหล่งเงินมาจากไหน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงแนวทางการดำเนินโครงการฯ ที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้

1. กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

2. เงื่อนไขการใช้จ่าย

2.1 ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น

2.2 ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า

การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า

3. ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม

4. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT)

ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

5. การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย

6. แหล่งเงิน จะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่

– เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณเรียบร้อยแล้ว

– จากการการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยจะใช้ มาตรา 28 โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลประชาชนในกลุ่มที่เป็นเกษตรกร จำนวน 11 ล้านคนเศษ ผ่านกลไก มาตรา 28 ของปีงบประมาณ 68

– การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการไหนสามารถใช้หรือปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลางที่อาจนำมาใช้เพิ่มเติมได้หากวงเงินไม่เพียงพอ

7. ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

8. มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับมติที่ได้รับความเห็นชอบในวันนี้ กระทรวงการคลัง จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายน 2567

สำหรับความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ การให้สิทธิแก่ประชาชน จำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ1.2 – 1.8% จากกรณีฐาน

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า การดำเนินการในเรื่องแหล่งเงิน เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายงบประมาณ หรือ พ.ร.บ.เงินตรา ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อกังวล ณ วันที่เริ่มโครงการในช่วงปลายปี จะมีเงิน 5 แสนล้านบาทอยู่ทั้งก้อน ไม่มีการใช้เงินสกุลอื่น หรือใช้มาตรการอื่นแทนเงิน ยืนยันว่าทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วน

เงินดิจิทัล 10,000 บาทจ่ายรวดเดียว

นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า เงินดิจิทัลที่เข้ากระเป๋าประชาชน จะเข้ามาพร้อมกันครั้งเดียว 10,000 บาท ส่วนที่กำหนดเงื่อนไขว่าร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่ายในรอบแรก แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป เนื่องจากในชั้นอนุกรรมการฯ มีข้อห่วงใยการทุจริตคอร์รัปชั่น และเรื่องการสร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเห็นว่ากลไกใช้จ่ายเงินดิจิทัล ต้องใช้ 2 รอบเป็นอย่างต่ำ เพื่อให้เกิดตัวคูณทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้

“รอบแรกประชาชนใช้กับร้านค้าขนาดเล็ก จะเป็นร้านหน้าบ้าน ร้านก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น พอใช้แล้วร้านค้านั้นก็นำไปซื้อสินค้าทุนกับร้านค้าอื่นๆ ต่อไปอีก 1 ทอด ถึงจะขึ้นเงินได้” นายจุลพันธ์ กล่าว

หวัง GDP ปี 68 โตใกล้เคียง 5%

รมช.คลัง กล่าวว่า ผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 68 เป็นหลัก และมั่นใจว่าจะมีส่วนช่วยให้จีดีพีโตได้ใกล้เคียง 5% ตามเป้าที่รัฐบาลวางไว้ และไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นเพียง 2 โครงการในหลายๆ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะออกมา และในปีต่อไปจะมีโครงการอื่นๆ ที่สร้างกำลังซื้อ สร้างการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนต่อไป

ใช้ได้เฉพาะร้านค้าขนาดเล็ก

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกร้านค้าขนาดเล็ก เพื่อต้องการให้เงินกระจายอยู่ในพื้นที่และชุมชน และเงินหมุนเวียนในระบบมากที่สุด ส่วนร้านที่ไม่สามารถร่วมโครงการได้ คือ ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่

“ร้านที่เข้าร่วมได้ คือ ร้านค้าปลีกทุกประเภท และร้านสะดวกซื้อ แบบสแตนอโลน และแบบที่ตั้งอยู่ในสถานบริการน้ำมัน” นายเผ่าภูมิ ระบุ

ยันไม่ขัดวินัยการเงินการคลัง

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า การดำเนินการในเรื่องแหล่งเงิน เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายงบประมาณ หรือ พ.ร.บ.เงินตรา ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อกังวล ณ วันที่เริ่มโครงการในช่วงปลายปี จะมีเงิน 5 แสนล้านบาทอยู่ทั้งก้อน ไม่มีการใช้เงินสกุลอื่น หรือใช้มาตรการอื่นแทนเงิน ยืนยันว่าทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วน

ส่วนการใช้เงินของ ธ.ก.ส.ในงบประมาณปี 68 ซึ่งการดำเนินการต้องเป็นไปตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งได้ตรวจสอบอำนาจหน้าที่ ธ.ก.ส.แล้วว่าสามารถทำได้ และสภาพคล่องของ ธ.ก.ส.มีเพียงพอ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top