GDP เกษตร Q1/67 หดตัว 4.1% จากผลกระทบเอลนีโญ คาดทั้งปีโต 0.7-1.7%

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 67 (ม.ค.-มี.ค. 67) หดตัว 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 โดยแบ่งตามแต่ละสาขา ดังนี้

– สาขาพืช ซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลัก หดตัว 6.4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 66 ต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี 67 ทำให้ปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ และแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดลง บางพื้นที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และมีสภาพอากาศร้อนจัดอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อพืชสำคัญหลายชนิด ทำให้พืชเจริญเติบโตช้า ผลผลิตน้อยลง และไม่สมบูรณ์

ทั้งนี้ สาขาพืชที่หดตัวค่อนข้างมาก ส่งผลให้สาขาบริการทางการเกษตร หดตัว 3.6%

– สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 1.5% เนื่องจากการผลิตสุกร และไก่เนื้อเพิ่มขึ้น เป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน และเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง

– สาขาประมง ขยายตัว 0.5% โดยผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักในการทำประมงทะเลปรับตัวลดลง

– สาขาป่าไม้ ขยายตัว 1.8% เนื่องจากผลผลิตไม้ยางพารา และถ่านไม้เพิ่มขึ้น

 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 67 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 0.7-1.7% เมื่อเทียบกับปี 66 โดยปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ภาคเกษตรในภาพรวมยังคงขยายตัวได้ อาทิ ความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร การยกระดับสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐาน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับภัยพิบัติต่างๆ การเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการวางแผนและรองรับความเสี่ยง

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรตามนโยบายสำคัญของรมว.เกษตรและสหกรณ์ ในการสร้างรายได้ของเกษตรกรให้เพิ่มเป็น 3 เท่า ภายใน 4 ปี ด้วย 9 นโยบายสำคัญ โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เพิ่มศักยภาพในการผลิตและการตลาด และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย เพื่อผลักดันการเติบโตของภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การบริโภคในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง อาทิ ฤดูฝนที่อาจมาล่าช้า ภาวะฝนทิ้งช่วง ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในส่วนของปัจจัยภายนอก อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคทั่วโลก และมาตรการกีดกันทางการค้าของหลายประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย

 

เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 1/67 จะหดตัวลง เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ลดลง แต่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยสินค้าที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 ได้แก่

– ข้าว ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง

– มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมพลังงานภายในประเทศมีความต้องการต่อเนื่อง

– อ้อยโรงงาน ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอ้อยในประเทศสูงขึ้น

– สับปะรดปัตตาเวีย ราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการของโรงงานแปรรูปที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง

ส่วนสินค้าปศุสัตว์และประมงที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 ได้แก่

– ไข่ไก่ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ในประเทศ

– น้ำนมดิบ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

– ปลาดุก เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top