นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเม.ย. 67 อยู่ที่ระดับ 90.3 ปรับตัวลดลงจาก 92.4 ในเดือนมี.ค. 67 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ อาทิ สินค้ายานยนต์, เฟอร์นิเจอร์, สิ่งทอ, เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต ขณะที่การสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานและค่าขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน ปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ประกอบกับปัญหาการลักลอบขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม ส่งผลกระทบต่อประชาชน และภาพลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยและอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ในเดือนเม.ย. มีวันทำงานน้อย เนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้การผลิตสินค้าลดลง ด้านการส่งออกชะลอลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ลดลงจากปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก รวมถึงปัญหาความไม่สงบในประเทศเมียนมา ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน
อย่างไรก็ตาม ในเดือนเม.ย. ยังมีปัจจัยบวกจากการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ตลาดโลกมีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น จากภาวะขาดแคลนอาหารและปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีภาระหนี้ ยังได้รับผลดีจากการที่ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินหลายแห่ง ปรับลดอัตราดอกเบี้ย (MRR) ลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ตามคำร้องขอของนายกรัฐมนตรี
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวด้วยว่า ผู้ประกอบการยังมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1. เสนอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและลดภาระค่าครองชีพ เช่น การตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ SMEs รวมทั้งออกมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
2. เสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไปก่อน เนื่องจากภาคการผลิตยังชะลอตัวต่อเนื่อง และผู้ประกอบการ SMEs กว่า 3.18 ล้านราย ยังไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องเป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด
3. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการดำเนินการตามแนวคิด ESG รวมทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าถึงเงินกู้ Green Loan ให้ง่ายขึ้น อุดหนุนค่าใช้จ่ายที่นำไปลงทุนในเทคโนโลยีด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ลดค่าธรรมเนียมรับรองคาร์บอนเครดิต 50% ในปี 2567 เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ค. 67)
Tags: ค่าจ้างขั้นต่ำ, ค่าแรงขั้นต่ำ, ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม, ผู้ประกอบการ, ส.อ.ท., เกรียงไกร เธียรนุกุล