บอร์ด กสทช.เคาะไลเซ่นส์ OneWeb จากอังกฤษให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม

นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กสทช.) มอบหมายให้ พลเอกสิทธิชัย มากกุญชร ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันนี้ (27 พ.ค.) ที่ประชุม กสทช. จัดการประชุมครั้งที่ 11 (ต่อเนื่อง) เพื่อพิจารณาการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ สำหรับโครงข่ายดาวเทียม OneWeb การเพิ่มบริการโทรคมนาคม และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม โดยที่ประชุมฯ มีมติ ดังนี้

1. อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (Landing Right) สำหรับโครงข่ายดาวเทียม OneWeb โดยมีระยะเวลา 5 ปี

2. อนุญาตการเพิ่มบริการขายความจุดาวเทียม (satellite network capacity) ตามระยะเวลาใบอนุญาตของ NT (3 สิงหาคม 2568)

3. อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ ให้ไปหารือ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ในประเด็นการปรับเงื่อนไขใบอนุญาตให้สอดคล้องกัน

ทั้งนี้ กสทช. ได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพานิชย์ พ.ศ. 2564 และคำนึงถึงผลกระทบกับผู้ประกอบกิจการดาวเทียมไทย ที่ได้มีการประมูลไปแล้ว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการที่มีคุณภาพดีสูงขึ้น และราคาถูกลง อีกทั้งสามารถให้บริการได้ทุกที่ ก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ ทั้งในเชิงคุณภาพ บริการ และราคา อีกด้วย

โครงข่ายดาวเทียม OneWeb เป็นความร่วมมือระหว่าง OneWeb ดาวเทียมสัญชาติอังกฤษกับบมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ซึ่งได้ก่อสร้างสถานีภาคพื้น (Gateway) ดาวเทียมวงโคจรต่ำรองรับไว้แล้วที่สถานีดาวเทียมสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ติดตั้งฐานจานสายอากาศจำนวน 14 ฐานเพื่อติดตั้งจานสายอากาศเบื้องต้น 12 จานสายอากาศ พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับสถานีภาคพื้นดินที่สมบูรณ์แบบสำหรับดาวเทียม OneWeb ด้วยคุณภาพบริการที่ระดับ SLA ไม่น้อยกว่า 99.99 %

อนึ่ง พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ NT ระบุว่า สถานีสิรินธร ที่เป็นสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดินทำหน้าที่บริหารจัดการเครือข่ายดาวเทียมของ OneWeb ซึ่งสามารถปล่อยสัญญาณบรอดแบนด์จากท้องฟ้า เดิมคาดว่าพร้อมให้บริการในไตรมาส 2/67 แต่ล่าช้ามาแล้ว 1 ปีเนื่องจากต้องขอนำเข้าอุปกรณ์หลายตัว โดยลงทุนไม่ถึงหลักร้อยล้านบาท คาดว่าถ้าสามารถให้บริการได้ในเฟสแรกจะมีรายได้จากการพัฒนา ติดตั้ง และดำเนินการสิ่งอำนวยความสะดวกสถานีภาคพื้นดินที่ให้บริการกลุ่มดาวดาวเทียม LEO ของ OneWeb อยู่ราว 80-100 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top