ครม. ปรับเวลาแข่ง “วัวลาน” เป็น 6 โมงเย็น – 6 โมงเช้า สอดคล้องประเพณีท้องถิ่น

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ การพิจารณาอนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนันประเภทแข่งขันสัตว์ (วัวลาน) โดยปรับเวลาใหม่เป็นเวลา 18.00 – 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น จากเดิมเวลา 07.00 – 19.00 น.

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เรื่องนี้สืบเนื่องจากจังหวัดเพชรบุรีเห็นว่า เวลาในการแข่งขันวัวลานไม่สอดคล้องกับการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่น ซึ่งนิยมเล่นในเวลากลางคืน ควรแก้ไขจากเวลา 07.00 น. ถึง 19.00 น. เป็นเวลา 19.00 น. ถึง 01.00 น. และได้มีการจัดประชุมซักซ้อมแนวทางการพิจารณาอนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนันประเภทแข่งขันสัตว์ (วัวลาน) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 โดยผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวลาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอข้อคิดเห็นเวลาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการละเล่นตามประเพณีท้องถิ่นที่แท้จริง คือ เวลา 18.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

“ไม่ได้ให้เล่นมากขึ้น ยังให้ 12 ชั่วโมงเท่าเดิม แต่ให้สอดคล้องกับเวลาที่เขาเล่นจริง เพราะฉะนั้น มหาดไทยจึงเสนอร่างกฏกระทรวงใหม่ เปลี่ยนจาก 7 โมงเช้า-1 ทุ่ม เป็น 6 โมงเย็น-6 โมงเช้า ไม่ได้ให้มากขึ้น แต่ให้สอดคล้องกับวิถีที่ชาวบ้านแถวนั้นเขาเล่นกัน”นายชัย กล่าว

ทั้งนี้ การพิจารณาปรับเวลาดังกล่าว จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงวัว และอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ประกอบกับหากมีการอนุญาตให้มีการเล่นในเวลาที่สอดคล้องกับการละเล่นที่แท้จริงแล้ว จะทำให้ภาครัฐจะสามารถเข้าไปดูแลจัดการให้การเล่นดังกล่าว เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม แม้การพิจารณาปรับเวลาดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม การระบาดของยาเสพติด การมั่วสุมของเยาวชน การค้ามนุษย์ การเกิดอุบัติเหตุด้านการจราจรในช่วงเวลากลางคืน ปัญหาด้านการสาธารณสุข ขยะมูลฝอย ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งกำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขัน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น

1. กำหนดขอบเขตพื้นที่จัดให้มีการเล่นแข่งขันวัวลานชัดเจน สถานที่ต้องมีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย

2. เจ้าของสถานที่ต้องจัดให้มีมาตรการคัดกรอง เพื่อรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เช่น จัดให้มีจุดตรวจเข้า-ออก บุคคลและยานพาหนะ เพื่อป้องกันการพกพาอาวุธปืน หรือสิ่งผิดกฎหมายเข้าในสถานที่

3. จังหวัดหรืออำเภอต้องจัดให้มีเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจร่วมกันตรวจตรา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งเป็นการทำนุบำรุง สืบสาน และอนุรักษ์การเล่นวัวลาน ซึ่งเป็นประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top