กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยยังคงติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนก H5N1 อย่างใกล้ชิด หลังสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วย 14 ราย ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ย้ำประเทศไทยยังปลอดภัย ไม่พบโรคไข้หวัดนกในคนมานานกว่า 18 ปี
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกรณีการระบาดของโรคไข้หวัดนก H5N1 ในประเทศสหรัฐอเมริกาว่า จากข้อมูลมีการรายงานพบโรคไข้หวัดนก H5N1 ในสัตว์ปีกและโคนมมาอย่างต่อเนื่องข้ามปี โดยตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในนกป่า 51 รัฐ ในสัตว์ปีกเลี้ยง 48 รัฐ และในฟาร์มโคนม 14 รัฐ และนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 67 เป็นต้นมา พบผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนก 14 รายใน 4 รัฐได้แก่ โคโลราโด มิชิแกน มิสซูรี และเท็กซัส
โดยรายสุดท้ายรายงานเมื่อวันที่ 6 ก.ย. จากรัฐมิสซูรี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต จากประวัติก่อนป่วยพบว่าผู้ป่วยมีการสัมผัสสัตว์ปีก 9 ราย สัมผัสโคนม 4 ราย และไม่มีประวัติการสัมผัสสัตว์ใด 1 ราย จึงจำเป็นต้องศึกษาโอกาสการแพร่เชื้อจากคนสู่คนและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวประเทศไทย (One Health) ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกมาอย่างต่อเนื่อง และยกระดับมาตรการรับมือให้เหมาะสมทันต่อสถานการณ์นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคไข้หวัดนก H5N1 ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน แต่ยังไม่พบว่าสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวการสอบสวนผู้สัมผัสโรคคนหนึ่งในครอบครัวผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนก และบุคลากรทางการแพทย์ 6 คนของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในรัฐมิสซูรีที่ผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนกเข้ารับการรักษาเมื่อต้นเดือนก.ย. 67 พบว่าบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มนี้มีอาการของระบบทางเดินหายใจเล็กน้อย และส่วนใหญ่หายป่วยแล้ว เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งได้จากบุคลากรที่ป่วย 1 ราย แต่ตรวจไม่พบสารพันธุกรรมของไวรัส
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจเลือดหาแอนติบอดีต่อเชื้อ H5N1 ที่ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (US CDC) เพื่อเป็นข้อมูลการสอบสวนสำหรับประเมินว่ามีโอกาสที่จะพัฒนาการติดต่อจากสัตว์สู่คน ไปเป็นคนสู่คนหรือไม่ ซึ่งยังต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป
ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องตระหนก เนื่องจากประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังโรคทั้งในสัตว์และในคนที่เข้มแข็ง อีกทั้งไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกมานานกว่า 18 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ประเทศไทยทั้งหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพคนและสัตว์ ยังคงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนข้อมูลและฝึกซ้อมแผนร่วมกันแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
โดยประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก ภายใน 14 วัน หากมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง ประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือประวัติเสี่ยงต่าง ๆ
ส่วนประชาชนทั่วไป แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสัมผัสสัตว์และสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ ไม่นำมือที่เปื้อนมาสัมผัสใบหน้า จมูก ตาและปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจับต้องเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และเปลือกไข่ที่เปื้อนมูลสัตว์ หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ใกล้บ้านทันทีเพื่อฝังกลบให้ถูกวิธี และห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายมาปรุงอาหารเด็ดขาด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ต.ค. 67)
Tags: โรคระบาด, โอภาส การย์กวินพงศ์, ไข้หวัดนก