In Focus: เปิดประวัติ “ชิเงรุ อิชิบะ” นายกฯ ญี่ปุ่นคนใหม่ กับภารกิจกู้วิกฤตศรัทธาพรรค LDP

รอลุ้นกันมาพักใหญ่นับตั้งแต่ ฟูมิโอะ คิชิดะ ประกาศเมื่อเดือนสิงหาคมว่าจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พร้อมถอนตัวไม่ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) อีกสมัย เพื่อหลีกทางให้ผู้นำคนใหม่ได้เข้ามาพิสูจน์ฝีมือกุมบังเหียนพรรคและบริหารประเทศ โดยในที่สุด เราก็ได้เห็นโฉมหน้าผู้นำคนใหม่ของญี่ปุ่นที่สามารถฝ่าด่านการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP มาได้เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน พร้อมก้าวขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการสด ๆ ร้อน ๆ ในวันที่ 1 ตุลาคม

In Focus สัปดาห์นี้ ขอนำผู้อ่านไปทำความรู้จัก “ชิเงรุ อิชิบะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่หมาด ๆ วัย 67 ปี อดีตรัฐมนตรีกลาโหมที่มีงานอดิเรกเป็นการประกอบโมเดลพลาสติก หนอนหนังสือตัวยง โอตาคุตัวพ่อ กับภารกิจท้าทายนานัปการที่รออยู่เบื้องหน้า

ชีวิตช่วงแรกก่อนเข้าสู่สังเวียนการเมือง

ชิเงรุ อิชิบะ เกิดที่โตเกียว เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 บิดารับราชการ และมารดาเป็นครู เมื่ออายุได้เพียงหนึ่งขวบ ครอบครัวของเขาย้ายกลับไปบ้านเกิดของบิดาที่จังหวัดทตโตริ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุดในญี่ปุ่น เนื่องจาก จิโร อิชิบะ บิดาของเขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด

อิชิบะศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยเคโอ (Keio University) ที่ซึ่งเขาได้พบกับ โยชิโกะ คู่ชีวิต โดยหลังจากสำเร็จการศึกษาในปี 2522 อิชิบะขอโยชิโกะแต่งงานทันที แม้ถูกปฏิเสธในคราแรก แต่อิชิบะไม่ยอมถอดใจง่าย ๆ ยังคงตามตื๊อตามจีบจนกระทั่งโยชิโกะใจอ่อนตอบตกลงในที่สุด ทั้งคู่เข้าพิธีวิวาห์ในปี 2526 และมีบุตรสาวด้วยกันสองคน

ปี 2526 เป็นปีสำคัญที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของอิชิบะ เพราะนอกจากเริ่มต้นชีวิตคู่แล้ว เขายังตัดสินใจลาออกจากงานที่มิตซุยแบงก์ (ปัจจุบันคือ ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น) เพื่อลงเล่นการเมืองตามคำชักชวนของอดีตนายกรัฐมนตรี คากูเออิ ทานากะ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของบิดา

จากสส. อายุน้อยสุด สู่ตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม

นายกฯ ทานากะถือเป็นผู้ชักนำอิชิบะเข้าสู่สนามการเมือง โดยหลังงานศพของบิดาซึ่งเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับอ่อนในปี 2524 อิชิบะใช้เวลาไตร่ตรองเรื่องนี้อยู่พักใหญ่ ในที่สุดเขาก็ลาออกจากงานธนาคารในอีกสองปีต่อมา และเข้าเป็นสมาชิกพรรค LDP สังกัด Thursday Club ซึ่งเป็นกลุ่มของทานากะ

อิชิบะได้รับเลือกเป็นผู้แทนเข้าสภาสมัยแรกในปี 2529 ขณะอายุ 29 ปี ทำให้เขาเป็นสส. ที่อายุน้อยที่สุดในเวลานั้น

ทั้งนี้ มีเกร็ดน่าสนใจเกี่ยวกับการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรครั้งแรกเมื่อปี 2529 อิชิบะ ซึ่งลงสมัครในเขตเลือกตั้งจังหวัดทตโตริ เล่าให้ฟังว่า เขาตระเวนหาเสียงตามบ้านมากถึงราว 54,000 หลัง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผล พิสูจน์ได้จากการที่เขากวาดคะแนนเสียงไปได้ 56,534 คะแนน ซึ่งมากพอที่จะทำให้เขาชนะเลือกตั้งเป็นสส. สมัยแรก

“จำนวนมือที่คุณจับทักทายคือจำนวนคะแนนเสียงที่คุณได้รับ” เขาบอกกับสมาชิกพรรค LDP รุ่นน้องอยู่เป็นประจำ

ในฐานะสส. รุ่นใหม่ในขณะนั้น อิชิบะมีความเชี่ยวชาญด้านนโยบายการเกษตร แต่สงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2533 และการเยือนเกาหลีเหนือในปี 2535 ทำให้ความสนใจของเขาหันเหไปสู่นโยบายการป้องกันประเทศ จุดเปลี่ยนในเส้นทางการเมืองของอิชิบะเกิดขึ้นในปี 2536 เมื่อเขาแปรพักตร์ไปโหวตสนับสนุนการลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของคิอิจิ มิยาซาวะ นายกรัฐมนตรีจากพรรค LDP เกี่ยวกับการจัดการร่างกฎหมายปฏิรูปการเมือง และในปีเดียวกัน อิชิบะตัดสินใจลาออกจากพรรค LDP ไปเข้าร่วมกับพรรค Japan Renewal Party ซึ่งต่อมาถูกยุบรวมเป็นพรรค New Frontier Party ก่อนออกมาเป็นนักการเมืองอิสระในปี 2539 และตัดสินใจหวนกลับคืนสู่รังเก่าในปีถัดมา จนกระทั่งได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค LDP ในระหว่างปี 2555-2557

อิชิบะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2545 ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานกลาโหม ก่อนที่ในเวลาต่อมา เขาจะได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัยของนายกรัฐมนตรี ยาสุโอะ ฟูกุดะ ในปี 2550-2551 ตามด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของรัฐบาลทาโร อาโซะ ในปี 2551-2552

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

การลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค LDP ครั้งนี้นับเป็นความพยายามครั้งที่ห้าของอิชิบะ และเป็น “การต่อสู้ครั้งสุดท้าย” ตามที่เขาได้ประกาศไว้

หลังพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม เขาลงสมัครชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค LDP ครั้งแรกในปี 2551 โดยชิมลางที่อันดับห้า ขณะที่คู่แข่งอย่าง ทาโร อาโซะ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

การชิงชัยครั้งที่สองและสามในปี 2555 และ 2561 อิชิบะต้องพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งคนเดิมอย่าง ชินโซ อาเบะ ทั้งสองครั้ง

ส่วนในการท้าชิงครั้งที่สี่ปี 2563 อิชิบะได้คะแนนมาเป็นอันดับสาม ตามหลังฟูมิโอะ คิชิดะ และผู้ชนะคือ อดีตนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ

อิชิบะเว้นว่างจากการลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP เมื่อสามปีที่แล้ว ก่อนตัดสินใจกลับมาลงสมัครเป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ และในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ

ปราบคอร์รัปชัน กอบกู้วิกฤตศรัทธาพรรค LDP

พรรค LDP ได้รับความไว้วางใจจากชาวญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคเมื่อปี 2498 สมาชิกพรรคชนะการเลือกตั้งสส.-สว.เข้าสภา และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเกือบตลอด เว้นช่วงไปเป็นฝ่ายค้านเพียงไม่กี่ครั้ง ขณะที่ปัจจุบัน LDP ก็ยังคงสามารถครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภา

อย่างไรก็ตาม พรรคสูญเสียคะแนนนิยมไปเป็นอย่างมากภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ เนื่องจากเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสส.พรรค LDP กับคริสตจักรแห่งความสามัคคี (Unification Church) และการที่นักการเมืองพรรค LDP หลายคนพัวพันกับการรับเงินสนับสนุนทางการเมืองมูลค่าหลายสิบล้านเยนแบบไม่ชอบมาพากล

ดังนั้น ภารกิจแรก ๆ ที่อิชิบะต้องรีบดำเนินการในฐานะหัวหน้าพรรค LDP ก็คือการกอบกู้วิกฤติศรัทธาของประชาชนชาวญี่ปุ่นที่มีต่อพรรค

ประชาชน “เบื่อหน่ายการทุจริตคอร์รัปชันที่แพร่ระบาดในแวดวงการเมืองญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คิชิดะต้องลาออก” ซาอูล ทาคาฮาชิ อาจารย์ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอซากาโจงะคุอิน (Osaka Jogakuin University) กล่าว

นอกจากการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว พรรค LDP ยังเผชิญกับปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยมีการตั้งกลุ่มใหญ่น้อยมากมายภายในพรรค นำโดยกลุ่มใหญ่สุดของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ก่อนที่เขาจะถูกลอบสังหารในเดือนกรกฎาคม 2565

คิชิดะไม่สามารถพิสูจน์ความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสียศรัทธาที่หยั่งรากลึกต่อการเมืองของ LDP ในหมู่ประชาชน การสำรวจความคิดเห็นชาวญี่ปุ่นโดยสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค (NHK) เมื่อต้นเดือนกันยายนแสดงให้เห็นว่า คะแนนนิยมที่มีต่อคณะรัฐมนตรีของคิชิดะร่วงลงเหลือเพียง 20% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่คิชิดะเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2564 คิชิดะเองก็ทราบดีว่าชาวญี่ปุ่นไม่เอาเขาแล้ว และเป็นสาเหตุให้เขาตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งหัวหน้าพรรคสมัยสอง

ในระหว่างที่คะแนนนิยมของคิชิดะร่วงเอา ๆ อิชิบะกลับค่อย ๆ เดินหน้าสร้างฐานเสียงด้วยการปรากฏตัวตามสื่อต่าง ๆ รวมถึงโทรทัศน์และยูทูบ (YouTube) อย่างไรก็ดี ถึงแม้ได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้น แต่กล่าวกันว่าอิชิบะมีศัตรูมากมายภายในพรรค จากการเป็นคนพูดจาโผงผางไม่เกรงกลัวใคร โดยเขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์พรรคและผู้นำในอดีตอย่างเปิดเผย ทำให้สมาชิกพรรคหลายคนไม่ไว้วางใจเขา แถมบางคนยังมองว่าอิชิบะเป็นคนทรยศที่สละเรือที่กำลังจะจม ซึ่งอ้างถึงเหตุการณ์ที่เขาลาออกจากพรรคเมื่อปี 2536

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อิชิบะกล่าวต่อสส.-สว.ของพรรค LDP ว่า “ผมทำร้ายความรู้สึกของใครหลายคน สร้างประสบการณ์แย่ ๆ และทำให้หลายคนต้องทุกข์ใจ ผมขอโทษด้วยใจจริงสำหรับความอ่อนด้อยทั้งหมดของผม” ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามแรกของอิชิบะในฐานะหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่จะทำให้พรรค LDP มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน

เศรษฐกิจตกต่ำ: ปัญหาที่ทำนายกฯ ตกเก้าอี้ และรัฐบาลถึงทางตันมาแล้วหลายยุคหลายสมัย

เช่นเดียวกับผู้นำญี่ปุ่นทุกคนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อิชิบะจะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาเป็นลำดับแรก

“ค่าแรงหยุดนิ่งมากว่า 30 ปีแล้ว ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น และระบบสวัสดิการก็ไม่พัฒนา” ทาคาฮาชิกล่าว พร้อมกับเสริมว่า ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งทำให้การจัดการกับปัญหาปากท้องเหล่านี้เป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นไปอีก

จิงตง หยวน ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงจีนและเอเชีย สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) เห็นด้วยกับมุมมองของทาคาฮาชิ โดยกล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าพรรค LDP เผชิญปัญหารอบด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ”

เขากล่าวว่า อาเบะโนมิกส์ (Abeconomics) และนโยบายเศรษฐกิจของคิชิดะไม่เป็นไปตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน ซึ่งคะแนนนิยมที่ตกต่ำของอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองคนเป็นเครื่องยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

นาโตแห่งเอเชีย: “ความฝัน” ที่ถูกมองว่า “เพ้อฝัน”

นักวิเคราะห์เชื่อว่า นโยบายต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะไม่แตกต่างไปจากบรรดาอดีตนายกรัฐมนตรีของพรรค LDP เท่าไรนัก

กล่าวคือ อิชิบะจะยังคงรักษาความเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นต่อไป และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงปี 2565 ซึ่งกำหนดให้เพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศเป็น 2% ของ GDP ภายในปี 2570

อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า สหรัฐฯ คงไม่ปลื้มกับข้อเสนอของอิชิบะที่ต้องการให้มีการทบทวนสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา (Japan-U.S. Security Treaty) และข้อตกลงสถานภาพกองกำลัง (Status of Forces Agreement)

ทั้งนี้ อิชิบะเสนอให้สร้างฐานฝึกสำหรับกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น (JSDF) ในสหรัฐฯ โดยให้ JSDF ประจำการอยู่ที่เกาะกวมเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการป้องปรามของสองชาติพันธมิตร แต่ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า ข้อเรียกร้องนี้จะถูกคัดค้านอย่างหนักจากวอชิงตัน

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างอิชิบะกับอดีตนายกฯ ทานากะเป็นที่สนใจอย่างมากสำหรับบรรดาผู้สังเกตการณ์นโยบายต่างประเทศ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่า ทานากะสนับสนุนจีน โดยเขาได้ออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างญี่ปุ่นกับจีน (Japan-China Joint Communique) กับอดีตนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ของจีน เมื่อเดือนกันยายน 2515

ขณะเดียวกัน นโยบายเด่นของอิชิบะในการหาเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP คือ ความฝันที่จะผลักดันการจัดตั้ง “นาโตแห่งเอเชีย” (Asian NATO) เพื่อสร้างระบบความมั่นคงร่วมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่นักวิเคราะห์มองว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ โดยเจฟฟรีย์ ฮอร์นัน หัวหน้าแผนกวิจัยความมั่นคงแห่งชาติที่สถาบันแรนด์ (RAND Institute) ชี้ว่า เป็นเรื่อง “เพ้อฝัน”

เหล่าผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า การจัดตั้งนาโตเวอร์ชันเอเชียเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากชาติตะวันตกที่เป็นสมาชิกนาโตล้วนมีศัตรูคนเดียวกันคือ รัสเซีย แต่สำหรับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น บอกยากว่าต้องการพันธมิตรทางทหารมาต่อต้านจีนหรือไม่ ขณะที่อินเดียเองก็พยายามไม่สร้างสถานการณ์ตึงเครียดและการเผชิญหน้ากับปักกิ่งโดยไม่จำเป็น

“ประเทศในเอเชียมีความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบกับจีน รวมถึงบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งปักกิ่งและวอชิงตันในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ” ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้เองทำให้การถือกำเนิดขึ้นของ “นาโตแห่งเอเชีย” ยังไม่แน่นอน แหล่งข่าวทางการกล่าวกับเดอะดิโพลแมต (The Diplomat) สื่อด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีสำนักงานในกรุงวอชิงตัน

หนอนหนังสือ และโอตาคุตัวพ่อ

ขอปิดท้ายเบา ๆ ด้วย Fun Facts เกี่ยวกับนายกฯ คนใหม่ของญี่ปุ่น ทั้งการเป็นหนอนหนังสือ โอตาคุตัวพ่อ เชฟฝีมือดี นักชิมราเมง และติ่งวงป๊อปยุค 70

งานอดิเรกที่อิชิบะชื่นชอบจนถึงขั้นคลั่งไคล้ คือ การประกอบโมเดลพลาสติกเครื่องบินขับไล่และเรือรบ จนได้รับฉายาว่าเป็น “gunji otaku” หรือโอตาคุด้านการทหาร อิชิบะเคยให้สัมภาษณ์ทางทีวีว่า งานอดิเรกนี้เหมือนกับการ “ทำความฝันให้เป็นจริง” โดยครั้งหนึ่ง เขาเคยอดหลับอดนอนทั้งคืนเพื่อประกอบเรือบรรทุกเครื่องบินจำลอง Admiral Kuznetsov ขนาดจิ๋ว เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซีย

นอกจากหลงใหลเรื่องเรือบินแล้ว อิชิบะยังเป็นโอตาคุผู้คลั่งไคล้การนั่งรถไฟ (railway otaku) โดยเขาเลือกใช้บริการรถไฟ รวมถึงรถไฟตู้นอน เดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่างโตเกียวกับทตโตริในภาคตะวันตกของญี่ปุ่น

อิชิบะเป็นหนอนหนังสือตัวยง เขาอ่านหนังสือวันละสามเล่ม และอ่านหนังสือหลากหลายประเภท ตั้งแต่วรรณกรรมระดับตำนานไปจนถึงมังงะ โดยนักเขียนคนโปรดของเขาคือ นัตสึเมะ โซเซกิ (Natsume Soseki) และโมริ โอไก (Mori Ogai) ว่ากันว่า สำนักงานของอิชิบะมีหนังสือเยอะจนไม่สามารถจัดวางบนชั้นหนังสือได้ทั้งหมด

งานอดิเรกยามว่างของอิชิบะยังไม่หมดแค่นั้น เพราะเขายังชอบทำอาหารอีกด้วย โดยเฉพาะแกงกะหรี่ ซึ่งถือเป็นเมนูจานเด็ดของเขา นอกจากนี้ อิชิบะเป็นหัวหน้ากลุ่มภายในพรรค LDP ที่ตั้งขึ้นเพื่อมุ่งส่งเสริมวัฒนธรรมการรับประทานราเมน และเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อตระเวนกินราเมนขึ้นชื่อประจำท้องถิ่น

และเพื่อให้ครบสูตรความเป็นโอตะ อิชิบะยังเป็นแฟนพันธุ์แท้วงป๊อปยุค 70 อย่างวง Candies ซึ่งมีเพลงฮิตติดท็อปชาร์ตถึง 8 เพลง ทุกครั้งที่ร้องคาราโอเกะ เขาจะเลือกร้องเพลงของวง Candies โดยไม่จำเป็นต้องดูเนื้อเพลงประกอบแต่อย่างใด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top