กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีตอบโต้การอุดหนุนโซลาร์เซลล์ที่นำเข้าจากบริษัทในเวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และไทย หวังสกัดการทุ่มตลาด ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า อัตราภาษีที่จะเรียกเก็บนั้นต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้
ประกาศดังกล่าวมีขึ้นในวันอังคาร (1 ต.ค.) โดยเป็นการตัดสินใจเบื้องต้นครั้งแรกจากสองครั้งที่กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะดำเนินการในปีนี้ หลังจากบริษัทฮันฮวา คิวเซลส์ (Hanwha Qcells) ของเกาหลีใต้ ซึ่งมีโรงงานอยู่ในรัฐจอร์เจียของสหรัฐฯ ร่วมด้วยบริษัทเฟิร์ส โซลาลาร์ (First Solar) ในรัฐแอริโซนา และบริษัทขนาดเล็กอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ได้ยื่นคำร้องขอให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ สอบสวนการนำเข้าแผงโซลาร์จากประเทศข้างต้น
ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ ซึ่งรวมกลุ่มกันในชื่อ American Alliance for Solar Manufacturing Trade Committee (AASMTC) กล่าวหาว่า บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีน ซึ่งมีโรงงานอยู่ใน 4 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุ่มตลาดสหรัฐฯ ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต อีกทั้งโรงงานผลิตใน 4 ประเทศยังได้รับการอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรมจากจีนซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทแม่ จนทำให้สินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศเหล่านั้นได้
ทั้งนี้ ข้อมูลที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ทางหน่วยงานได้กำหนดอัตราภาษีตอบโต้การอุดหนุนทั่วไป (Subsidy Rate) ที่ 9.13% สำหรับแผงโซลาร์เซลล์ที่นำเข้าจากมาเลเซีย, 8.25% สำหรับสินค้านำเข้าจากกัมพูชา, 23.06% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากไทย และ 2.85% จากเวียดนาม ขณะที่ ฟิลิป เฉิน นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จากรอธ แคปิตอล พาร์ทเนอร์ส กล่าวว่า โดยรวมแล้วอัตราภาษีข้างต้นนั้นต่ำกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ราว 15%
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภาษีบางส่วนที่จะเรียกเก็บจากบริษัทต่าง ๆ ในเวียดนามและไทยนั้น จะมีผลย้อนหลัง 90 วัน เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์พบว่า บางบริษัทเพิ่มการจัดส่งสินค้ามายังสหรัฐฯ ก่อนหน้าการปรับขึ้นภาษี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 67)
Tags: สหรัฐ, โซลาร์เซลล์