
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย [SCC] ชี้แจงว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/68 มีกำไรอยู่ที่ 1,099 ล้านบาท ลดลงจากที่มีกำไร 2,424.85 ล้านบาทในไตรมาส 1/67 แต่หากไม่รวมผลการดำเนินงานของลองเซินปิโตรเคมิคอลส์คอมเพล็กซ์ (LSP) ที่ประเทศเวียดนาม (LSP) ผลการดำเนินงานของ SCC จะมีกำไรอยู่ที่ 4,019 ล้านบาท
แต่ผลดำเนินงานถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับขาดทุน 512 ล้านบาทในไตรมาส 4/68 เป็นผลจากการบริหารจัดการภายในและการปรับปรุงประสิทธิภาพของทุกธุรกิจ รวมถึงจากความต้องการตามฤดูกาลปรับเพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้าง ประกอบกับผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจาก บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) และ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง [SCGP]
ทั้งนี้ ไตรมาส 1/68 กลุ่ม SCC มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 124,392 ล้านบาท ลดลง 5% จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากปริมาณขายที่ลดลงของ SCGC โดยเฉพาะของโรงงาน LSP ที่เวียดนาม
นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า แนวโน้มไตรมาส 2/68 คาดว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/68 ได้แรงหนุนจากต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวลดลงสอดคล้องราคาน้ำมัน ส่วนต่างปิโตรเคมีดีขึ้น รวมทั้งผู้ผลิตปิโตรเคมีจีนได้รับผลกระทบจากการจัดหาวัตถุดิบจากสหรัฐ โดยบริษัทยังคงเป้าหมายรายได้เติบโต 3-5% จากปีก่อน และยังไม่ปรับลงโดยช่วงครึ่งปีหลังยังมีสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนจากสงครามการค้า ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับโครงการ LSP ปัจจุบันยังเป็นไปตามแผนทั้งระยะเวลาในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายในการลงทุน โดยบริษัทวางแผนการลงทุนดังกล่าวแบบไม่มีพาร์ทเนอร์ อย่างไรก็ตามหากมีพาร์ทเนอร์ที่สนใจเข้าลงทุน และสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้มากขึ้นได้ก็พร้อมเปิดรับ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการพูดคุยหรือมีพาร์ทเนอร์ที่สนใจถึงขั้นทำงานร่วมกัน
นายธรรมศศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทได้ประเมินสถานการณ์และผลกระทบจากสงครามการค้าโลก พบว่า ผลกระทบทางตรงต่อ SCC มีเล็กน้อย เนื่องจากในปี 67 มีการส่งออกโดยตรงไปที่สหรัฐเพียง 1% จากยอดขายรวม ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมมีมหาศาล และยิ่งหากพ้นระยะเวลาเลื่อนจัดเก็บภาษี 90 วัน ผลกระทบอาจรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะเห็นชัดในไตรมาส 3/68 หากอัตราเรียกเก็บภาษีของสหรัฐกับประเทศในอาเซียนกลับไปที่ระดับเดียวกันการประกาศวันที่ 2 เม.ย. จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคชะลอตัว แน่นอนว่ากระทบไทยด้วย จากสินค้าที่ทะลักเข้ามาจากจีน ทำให้การผลิตในประเทศมีแนวโน้มลดลงอีก
ในทางกลับกัน สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ยังมีประเทศที่ได้ประโยชน์ เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการที่สหรัฐระงับการส่งออกแร่หายากจากจีน ทำให้ต้องนำเข้าจากออสเตรเลีย และบราซิล ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเข้าข้าวโพดสินค้าเกษตรจากบราซิลมากขึ้น นอกจากนี้ อินเดีย ญี่ปุ่นแคนาดา ก็คาดว่าจะได้ประโยชน์เช่นกัน ทำให้บางตลาดมีกำลังซื้อมากขึ้น ซึ่งบริษัทมีหน่วยงานขายรอบโลก ทำให้สามารถปรับตัวกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นที่มีกำลังซื้อได้ โดยต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานของประเทศนั้น ๆ ด้วย
อีกทั้งประเด็นสงครามการค้ายังมีโอกาสสำหรับบริษัท คือแนวโน้มราคาพลังงานที่ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวความต้องการใช้ลดลง รวมทั้งสินค้าที่มูลค่าเพิ่มสูง หรือสินค้าที่มีความพิเศษยังเป็นที่ต้องการ อาทิ ปูนคาร์บอนต่ำ ที่ยังสามารถส่งออกไปยังสหรัฐได้ ในหลายประเทศเริ่มมีความต้องการสินค้าที่มีความเป็นกรีนมากขึ้น เรื่องแพคเกจจิ้งที่เป็น Low Carbon
ส่วนปัจจัยในประเทศ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าตั้งแต่หลังโควิด-19 แต่ได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวมาตลอด ซึ่งปัจจุบันท่องเที่ยวชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งจากข่าวจีนเทาที่สร้างความไม่เชื่อมั่น รวมทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยอ่อนตัวลง ล่าสุด มูดี้ส์ส่งสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไม่ดี สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยเปราะบางมุ่งสู่จุดที่อ่อนแอลงต่อเนื่อง ดังนั้น การปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาสงครามการค้าเป็นเรื่องสำคัญ แนะภาครัฐร่วมมือกับเอกชนในการประสานงานร่วมกัน สร้างความร่วมมือเพื่อหาทางออกด้านนโยบายภาษีของสหรัฐ ซึ่งต้องเร่งคุยปรับตัวให้เร็ว รีบแก้ไข จุดไหนที่รัฐบาลควรเข้าไปเยียวยา เพราะแน่นอนต้องมีผู้ได้รับผลกระทบระยะสั้น
“การตั้งวอร์รูมที่เอาคนที่เกี่ยวข้องมาตัดสินใจในการทำงานระดับประเทศด็จำเป็น โดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้าที่เราไปเจรจา เขาต้องการให้มีการนำเข้าจากไหนแล้วเราอยากได้ไหม สร้างมูลค่าเพิ่มได้ไหม อุตสาหกรรมในประเทศต้องปรับตัวอย่างไร รัฐจะได้สนับสนุนได้ถูก ถ้าเราสามารถสรุปได้เร็ว ความเชื่อมั่นจะกลับมาอย่างมาก”
ทั้งนี้บริษัทได้ยกระดับการปรับตัวให้เข้มข้นรับสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว ด้วย 4 กลยุทธ์ ประกอบด้วย
1.) ลดต้นทุน แข่งขันกับผู้ผลิตระดับโลก เพื่อรับมือสินค้าราคาถูกจากประเทศอื่นที่อาจเข้ามาแข่งขัน ด้วยวิธีการลดต้นทุนการผลิต (Operation Cost) โดยควบรวมไลน์การผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนโดยเพิ่มการใช้ Robotic Automation ลดต้นทุนการบริหารจัดการ (Admin Cost) โดยเพิ่มการใช้ AI ปรับปรุงประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กรเช่น ปรับลดเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ตลอดห่วงโช่อุปทาน ส่งผลให้สามารถลดหนี้สินสุทธิลงเหลือ 290,504 ล้านบาท ในไตรมาส 1/68 และเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) และพลังงานทางเลือก (Alternative Fuel) ในกระบวนการผลิต โดยในไตรมาส 1/68 เอสซีจีใช้พลังงานทางเลือกในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 44% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด
2.) ขยายพอร์ตสินค้าให้รองรับความต้องการตลาดทุกระดับ
พัฒนา ‘สินค้ามูลค่าเพิ่มสูงและสินค้ากรีน” (HVA Products & Green Products) ให้ตอบโจทย์ตลาดเช่น กระเบื้องเกรซพอร์ซเลนขนาดใหญ่, ปูนเอสซิจีคาร์บอนต่ำ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเป็น Gen 3 ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนฯ ได้ประมาณ 40% ตั้งเป้าจำหน่ายในกลุ่มสินค้าปูนตกแต่งในไตรมาสที่ 4/68, กลุ่มสินค้าหลังคา ผนังและฟื้นตกแต่ง ที่ใช้เทคโนโลยี Digital Printing พร้อม UV Coating เคลือบผิวทนทาน กันเชื่อรา และหลอดฉีดยาและเข็มฉีดยา ที่เอสซีจีพี่ ผสานความร่วมมือกับ Once Medical Company Limited
เพิ่ม “สินค้าคุณภาพ ราคาจับต้องได้” (Quality Alfordable Products) ที่มีความต้องการสูง ทำกำไรทันทีเช่น เอสซีจี โซลาร์รูฟ ที่ผลิตไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพ และมีหลายแพ็กเกจราคาให้เลือก, หลังคาเซรามิก เอสซีจี รุ่น Celica Curve ที่คุ้มค่า ทนทาน สีสวยติดทนกว่าด้วยเนื้อเซรามิก , กระเบื้องคอนกรีตปูพื้นทางเดิน เอสซีจี ที่มีดีไซน์และลายยอดนิยม แข่งแรงทนทาน ใช้ในงานออกแบบได้หลากหลาย และท่อ PVC เกษตร ที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับความต้องการของเกษตรกร
3.) บุกตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง โดยขยายการส่งออกสินค้า เช่น ปูนเอสซีจีคาร์บอนต่ำ กระเบื้องคอนกรีตสมาร์ทบอร์ด กระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อาหาร ไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและความต้องการ เช่น ประเทศที่ปรับตัวและได้ประโยชน์จากสงครามการค้า โดยใช้เครือข่ายของธุรกิจต่าง ๆ ของเอสซีจีที่มีอยู่ทั่วโลก
4.) สร้างความได้เปรียบโดยส่งออกจากฐานการผลิตที่หลากหลายในภูมิภาคอาเซียน โดยสลับฐานการผลิตและส่งออกจากประเทศที่มีอัตรานำเข้าภาษีสหรัฐต่ำกว่า เช่น บรรจุภัณฑ์ของเอสซีจีที่มีฐานการผลิตและส่งออกจากทั้งไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนปูนคาร์บอนต่ำ และกระเบื้องเกรซพอร์ซเลน สามารถผลิตและส่งออกได้จากทั้งไทยและเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม แม้สงครามการค้ายังมีความไม่แน่นอน และอุปสงค์เคมีภัณฑ์ชะลอตัว แต่ SCGC คาดว่าจะได้รับอานิสงส์บวกจากราคานำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเคมีภัณฑ์ลดลง จึงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการเชิงรุกได้แก่ 1.) ลดต้นทุนบริหารอย่างต่อเนื่อง 2.) เพิ่มความยืดหยุ่นของ ซัพพลายเชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของโครงการ LSP ให้กลับมาเดินเครื่องได้เมื่อสถานการณ์เหมาะสม และ 3.) เร่งพัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง พร้อมขยาย ธุรกิจสินค้ากรีน และดิจิทัล โซลูชัน เช่น DRS by Repco NEX
นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC กล่าวว่า ปิโตรเคมีสำคัญมาก ต้องติดตามการตอบโต้กันระหว่างสหรัฐและจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจีนพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐในปริมาณสูง หากจีนขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐ จะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในปิโตรเคมีสูงจนไม่สามารถผลิตได้ ขณะที่โพรเพน ยังสามารถนำเข้าจากตะวันออกกลางแทนได้ แต่ปริมาณคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของจีน ส่งผลให้ไตรมาส 2/68 ธุรกิจปิโตรเคมีจะปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมัน-แนฟทาลงเป็นร้อยเหรียญสหรัฐ ทำให้สเปรดปิโตรเคมีดีขึ้นทันทีระดับร้อยเหรียญสหรัฐ แต่ปัญหาคือดีมานด์ในตลาดลดลงอย่างมาก ผู้ผลิตเอาไปทำต่อน้อยลง ซึ่งบริษัทได้กระจายเข้าไปในกลุ่มลูกค้าที่ครอบคลุมโดยเฉพาะตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อย เช่น ญี่ปุ่น รวมทั้งบริษัทต้นทุนให้ดีขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 68)
Tags: SCC, ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม, ปูนซีเมนต์ไทย