น้ำมัน WTI ปิดลบ $1.02 คาดเจรจานิวเคลียร์อิหร่านคืบหน้า

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (7 พ.ค.) หลังมีสัญญาณบ่งชี้ถึงความคืบหน้าในการเจรจาด้านนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการเพิ่มขึ้นของสต็อกน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอุปสงค์เชื้อเพลิงที่อ่อนแอ

  • ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.02 ดอลลาร์ หรือ 1.73% ปิดที่ 58.07 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 1.03 ดอลลาร์ หรือ 1.66% ปิดที่ 61.12 ดอลลาร์/บาร์เรล

เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่าการเจรจาด้านนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ เป็นไปในทิศทางที่ดี และมีข้อตกลงที่จะทำให้อิหร่านกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก ในขณะเดียวกันข้อตกลงนี้ก็จะป้องกันไม่ให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์

ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ และอิหร่านสามารถบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ ก็อาจปูทางไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่าน ซึ่งจะทำให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันเข้าสู่ตลาดโลก และทำให้อุปทานน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยอิหร่านผลิตน้ำมันในปริมาณกว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 3% ของผลผลิตน้ำมันทั่วโลก

ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 188,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอุปสงค์น้ำมัน ก่อนที่จะถึงฤดูการขับขี่ยานยนต์ในหน้าร้อนของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี EIA ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 2.0 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 1.7 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล

นักลงทุนจับตาการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ หลังจากมีรายงานว่าสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และเจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จะพบปะกับเหอ หลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีน ที่สวิตเซอร์แลนด์ในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นภาษีศุลกากรและการค้า

คณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเมื่อวันพุธตามคาด แต่ได้เตือนถึงความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจ และความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยควบคู่กับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น (Stagflation)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 68)

Tags: , ,
Back to Top