
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย แสดงความเห็นต่อแผนเจรจาภาษีระหว่างไทย-สหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบัน สหรัฐฯ ผ่อนผันการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% ออกไป 90 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 9 ก.ค.นี้ ว่า หอการค้าไทย ได้ประสานการทำงานร่วมกันกับรัฐบาลมาโดยตลอด และมีความมั่นใจว่าข้อเสนอที่ไทยจะนำไปเจรจากับสหรัฐฯ มีความเหมาะสม และเป็นธรรม
“ที่ผ่านมา นักลงทุนก็มีความกังวลเรื่องความไม่ชัดเจนในนโยบายภาษีของทรัมป์ ซึ่งทางหอการค้าฯ ก็ได้เร่งรัดไปยังรัฐบาล ขอให้รีบเจรจาโดยด่วน…กำลังจะได้รับผลกระทบแล้ว เพราะใกล้จะครบ 90 วัน ในวันที่ 9 ก.ค. สินค้าจะลงเรือไม่ทัน ต้องเร่งให้ภาครัฐไปเจรจา…แต่เท่าที่ร่วมงานกันมา ก็มั่นใจว่าข้อเสนอที่รัฐบาลไทยจะนำไปเจรจากับสหรัฐ เป็นสิ่งที่เหมาะสม และแฟร์” นายพจน์ ระบุ
ประธานกรรมการหอการค้าไทย ยังกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั้น ยังมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต แต่ทั้งนี้ จะต้องเป็นการกระตุ้นที่ตรงจุด และมีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้มีเม็ดเงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
นายพจน์ ได้กล่าวในงาน “Thailand- U.S. Trade and Investment Summit 2025” ว่า หอการค้าไทย ได้ร่วมมือกับภาครัฐภายใต้แนวคิด “Team Thailand Plus” มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายเครือข่ายและส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งปีนี้เป็นวาระครบรอบ 192 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ
โดยงานวันนี้ จะเป็นเวทีสำคัญให้ภาคเอกชนของทั้งไทยและสหรัฐฯ รวมถึงผู้แทนจากภาคธุรกิจสำคัญ ที่สะท้อนแนวโน้มระดับโลก ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมอง เพื่อหารือในประเด็นสำคัญ และร่วมกันเสนอแนวนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ ซึ่งจะมี 4 เวทีเสวนาหลัก มีมีผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละวงการ มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในหัวข้อสำคัญ ได้แก่:
- การค้าผลิตภัณฑ์เกษตรและนวัตกรรมอาหาร
- การขับเคลื่อนนโยบายสีเขียว
- การค้าดิจิทัลและนวัตกรรม
- การฟื้นฟูอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการท่องเที่ยว
ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เราทุกคนกำลังเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การเข้าใจและรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น และงานในวันนี้จึงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการทบทวนว่า เราอยู่ตรงจุดใดในความร่วมมือนี้
“ไทย-สหรัฐ เดินหน้าผลักดันความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง และงานในวันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเสาหลักของความร่วมมือ ที่หวังว่าจะปูทางไปสู่ความร่วมมือในอนาคตเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมา” นายพจน์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 68)