หุ้นไทยแนวโน้มดัชนีเช้าแกว่งตัวในกรอบ ไร้ปัจจัยใหม่ผลักดันดัชนีทั้งในและตปท.

นักวิเคราะห์ฯ คาดตลาดหุ้นไทยวันนี้แกว่งตัวไซด์เวย์ในกรอบ ยังไร้ปัจจัยใหม่ หลังจากที่ตลาดรับรู้ปัจจัยต่าง ๆ ไปมากแล้ว และการรายงานงบฯ ไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนออกครบแล้วเช่นกัน เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ที่แกว่งตัวในกรอบแคบ พร้อมให้แนวต้าน 1,195-1,200 จุด แนวรับ 1,175-1,180 จุด

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน (บลป.) เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้คาดแกว่งตัวไซด์เวย์ในกรอบ โดยที่ยังคงรอปัจจัยใหม่เข้ามา หลังจากที่ตลาดรับรู้ปัจจัยต่าง ๆ ไปมากแล้วช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการทยอยประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/68 ของบริษัทจดทะเบียนก็รายงานครบแล้ว ทำให้ยังไม่มีปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศยังคงไม่มีปัจจัยใหม่เช่นกัน โดยที่ตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่เปิดมาเช้านี้ก็แกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ หลังตอบรับปัจจัยบวกจากจีนลดดอกเบี้ยไปเมื่อวานนี้แล้ว

โดยให้แนวต้าน 1,195-1,200 จุด แนวรับ 1,175-1,180 จุด

*ประเด็นพิจารณาการลงทุน

– ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (20 พ.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 42,677.24 จุด ลดลง 114.83 จุด หรือ -0.27%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,940.46 จุด ลดลง 23.14 จุด หรือ -0.39% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 19,142.71 จุด ลดลง 72.75 จุด หรือ -0.38%

– ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดที่ระดับ 37,590.15 จุด เพิ่มขึ้น 60.66 จุด หรือ +0.16% ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดที่ระดับ 23,736.43 จุด เพิ่มขึ้น 54.95 จุด หรือ +0.23% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตเปิดที่ระดับ 3,380.21 จุด ขยับลง 0.27 จุด หรือ 0.01%

– ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (20 พ.ค.) 1,189.14 จุด เพิ่มขึ้น 2.08 จุด(+0.18%) มูลค่าซื้อขาย 46,960.04 ล้านบาท

– นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ (20 พ.ค.) 896.50 ล้านบาท

– ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. (20 พ.ค.) ลดลง 13 เซนต์ หรือ 0.21% ปิดที่ 62.56 ดอลลาร์/บาร์เรล

– ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (20 พ.ค.) 6.21 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

– เงินบาทเปิด 32.84 แข็งค่ารับดอลลาร์อ่อนค่า ตลาดกังวลปัญหาหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ

– ธปท. ห่วง “เอสเอ็มอี-รายย่อย” หนี้เสียพุ่งต่อเนื่อง “เอ็นพีแอล” เริ่มลามสู่กลุ่ม รายได้ระดับกลาง-สูง บ้านเกิน 5 ล้านบาท ขณะที่ “สินเชื่อ” หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จาก “แบงก์” เข้มปล่อยกู้ กระทบดีมานด์ลงทุน ขอกู้หด ธุรกิจแห่คืนหนี้สะพัด เผยไตรมาส 2 ปี 68 “ธนาคารพาณิชย์” ยังมีความท้าทาย เหตุผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์ พร้อมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด สั่ง 6 แบงก์ใหญ่ ทำ Stress Test รับมือ พร้อมเร่งคลอดมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย เฟส 2” คาดชัดเจนกลาง มิ.ย. นี้

– ครม.เห็นชอบปรับงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท ยื่นคำขอภายใน พ.ค.นี้ เป็นโครงการพร้อมลงทุนทันที จัดสรรภายใน ก.ค. นี้ จับตาจัดสรรให้หน่วยงานที่เพื่อไทยคุม ทั้ง สทนช. คมนาคม กองทุนหมู่บ้าน กระทรวงท่องเที่ยว พร้อมอนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.งบปี 69 เสนอสภาสัปดาห์หน้า ลุยปรับงบ รับวิกฤตทรัมป์ ผอ.สำนักงบขอทุกฝ่ายช่วยกันพิจารณาเพื่อใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

– สภาพัฒน์วิเคราะห์ มาตรการภาษีกีดกันการค้าสหรัฐ จ่อกระทบไทยหนักทั้งส่งออก ลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมในระยะถัดไป กระทบชิ่ง 4 กลุ่มสินค้าจีนทะลักไทยพุ่งจากราคาลดลง สัญญาณชัดนำเข้าปี 67 โต จี้รัฐบาลเร่งเจรจาสรุปดีลการค้าสหรัฐลดแรงกระแทก ก่อนเส้นตาย 9 ก.ค.

– เศรษฐกิจไทยส่อแววทรุด GDP ไตรมาสแรกโต 3.1% แค่ภาพลวงตา ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ปัญหาหนี้ครัวเรือน บริโภคฝืด สินเชื่อติดลบ SMEs อ่อนแรง เสนอรัฐเร่งอัดงบลงทุน สร้างงานแทนแจกเงิน พร้อมปรับโครงสร้าง

– ธปท. เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกันระหว่าง ธปท. กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ พิจารณาปรับเงื่อนไขมาตรการคุณสู้เราช่วย ซึ่งต้องเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆ ด้วย โดยปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปในรายละเอียดออกมา ถ้ามีความชัดเจนจะเปิดเผยอีกครั้ง คาดว่าจะออกมาได้ช่วงกลางเดือน มิ.ย. หรือปลายเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนที่โครงการจะสิ้นสุดระยะมาตรการ

*หุ้นเด่นวันนี้

– KBANK (ฟินันเซีย ไซรัส) “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 186 บาท แม้ KBANK ไม่ใช่หุ้น Top pick ในกลุ่มธนาคาร และยังมีความท้าทายด้านเศรษฐกิจและการค้าโลกในช่วงที่เหลือของปี แต่การล้างหนี้เสียในช่วงปี 2565-2567 ไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้การก่อตัวของหนี้ด้อยคุณภาพมีแนวโน้มลดลง การตั้งสำรองมีแนวโน้มลดลง และแนวโน้ม credit cost เป็นขาลง การตั้งสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพอยู่ในระดับสูง 149% เป็นกันชนที่ดีในภาวะความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า ปัจจุบันมี P/E 7.7x, P/BV 0.7x, Dividend yield 5.9%, ROE 9% ไม่ทิ้งห่างจากแบงก์ใหญ่อื่น

– STECON (กสิกรไทย) ราคาพื้นฐานที่ 9.87 บาท เรามีมุมมองเชิงบวกกับ STECON จากรายงานผลประกอบการหลัก 1Q25 ที่ 341.5 ลบ. (+716% YoY และ -52% QoQ) สูงกว่าประมาณการของเราไป 22% ทั้งนี้มองว่ากำไรใน ไตรมาส 2/68 อาจเติบโตขึ้นทั้งYoY, QoQ จากผลขาดทุนบึงหนองบอน (BNB)ที่หมดไปในปีที่ผ่านมา รวมไปถึงเก็งการรับรู้ผลขาดทุนรถไฟฟ้าสีชมพูน้อยลงจากการเปลี่ยนมาตรฐานการบัญชี ในส่วนของ backlog อยู่ที่ระดับ 1.25 แสนลบ. ณ ไตรมาส 1/68 (+30% YoY และ +7.7% QoQ) คิดเป็นการลงนามในโครงการใหม่มูลค่า 1.6 หมื่นลบ.ในไตรมาส 1/68 จากโครงการภาคเอกชน 2 โครงการ โดย backlog ล่าสุดอาจครอบคลุมการคาดการณ์รายได้ 4 ปีของเรา

– TASCO (เมย์แบงก์) เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 16.50 บาท คาดงบไตรมาส 2 โตเด่น ครม. เพิ่มงบโครงสร้างพื้นฐาน

เมื่อวานที่ผ่านมา ครม. มีมติอนุมัติงบกลาง ที่ใช้ใน “โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” กระจายลงใน 4 โครงการใหญ่ หนึ่งในโครงการที่ได้รับอานิสงค์คือ โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ปรับปรุง/พัฒนาถนน เป็นปัจจัยหนุนปริมาณการขายของ TASCO ซึ่งมีอัตรากำไรสูงกว่าธุรกิจต่างประเทศ ผู้บริหารคาดปริมาณการขายในไตรมาส 2/68 เติบโตจากตลาดภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีปริมาณการขายเติบโตทั้ง YoY และ QoQ หลังจากงบประมาณเบิกกลับเข้าสู่ปกติในปีนี้ ส่วนตลาดต่างประเทศปริมาณการขายทรงตัวเทียบไตรมาสก่อน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 68)

Tags: , ,
Back to Top