
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ถูกฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไล่บี้กดดันอย่างหนัก โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (22 พ.ค.) ได้มีการออกคำสั่งเพิกถอนสิทธิรับนักศึกษาต่างชาติของฮาร์วาร์ด แม้ล่าสุดผู้พิพากษาของศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้สั่งระงับคำสั่งดังกล่าวไว้ชั่วคราวแล้ว แต่อนาคตของนักศึกษาต่างชาติเกือบ 7,000 คน หรือคิดเป็นหนึ่งในสี่ของนักศึกษาทั้งหมด ก็ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน
“ทุกคนต่างตื่นตระหนก” นักศึกษารายหนึ่งกล่าว ขณะที่อีกคนกล่าวว่า “มันน่ากลัวและน่าเศร้า… การได้เข้าเรียนที่สถานศึกษาแห่งนี้เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของฉัน”
ด้านอลัน การ์เบอร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประณามการกระทำของทำเนียบขาวว่า “ผิดกฎหมายและไร้เหตุผล” ขณะที่มหาวิทยาลัยได้ยื่นฟ้องรัฐบาลเป็นครั้งที่สองภายในเวลาไม่ถึงเดือน ส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทรัมป์กับสถาบันการศึกษาชั้นนำในกลุ่ม Ivy League แห่งนี้ลุกลามขยายวงกว้างไปอีก
เกิดอะไรขึ้นระหว่างรัฐบาลทรัมป์กับฮาร์วาร์ด ความขัดแย้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน และเหตุการณ์จากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป เราขอรวบรวมมาให้ดังนี้
หลังเข้ารับตำแหน่งไม่นาน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อสั่งการให้รัฐบาลตอบสนองอย่างจริงจังต่อข้อกล่าวหาเรื่องการต่อต้านชาวยิวในมหาวิทยาลัย นำไปสู่การจัดตั้งคณะทำงานปราบปรามการต่อต้านชาวยิว “เพื่อขจัดต้นตอของปัญหาการคุกคามชาวยิวในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย”
ต่อมาในเดือนมี.ค. ฝ่ายบริหารของทรัมป์ประกาศว่าคณะทำงานดังกล่าวจะทบทวนสัญญาต่าง ๆ มูลค่ารวมกว่า 255 ล้านดอลลาร์ และเงินทุนสนับสนุนระยะยาวกว่า 8.7 พันล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลกลางทำกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและหน่วยงานในสังกัด อาทิ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายเพื่อบีบให้ฮาร์วาร์ดลงมือจัดการกับเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในรั้วสถาบัน
ลินดา แม็คมาฮอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในขณะนั้นว่า “ความล้มเหลวของฮาร์วาร์ดในการปกป้องนักศึกษาจากปัญหาการต่อต้านชาวยิวในมหาวิทยาลัย ทั้งยังส่งเสริมแนวคิดที่ก่อให้เกิดความแตกแยกเหนือการแสวงหาความรู้นั้น ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย”
วันที่ 14 เม.ย. ความขัดแย้งระหว่างฮาร์วาร์ดกับรัฐบาลทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก เมื่อฝ่ายบริหารสั่งอายัดเงินทุนสนับสนุนจำนวน 2.2 พันล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลกลางอนุมัติจัดสรรให้ฮาร์วาร์ด หลังจากมหาวิทยาลัยปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติในการรับนักศึกษา การจ้างงาน และการบริหารงาน ตามที่รัฐบาลทรัมป์เรียกร้อง
ในหนังสือลงวันที่ 11 เม.ย. เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของทรัมป์กล่าวหาว่า มหาวิทยาลัยละเมิดสิทธิพลเมืองของนักศึกษา และไม่สามารถรักษาความปลอดภัยให้กับนักศึกษาชาวยิวและผู้สนับสนุนอิสราเอล โดยปล่อยให้มีการต่อต้านชาวยิวในมหาวิทยาลัย
หนึ่งสัปดาห์ต่อมา คริสตี โนม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ขู่ว่าจะเพิกถอนสิทธิของฮาร์วาร์ดภายใต้โครงการ Student and Exchange Visitor Program (SEVP) ซึ่งอนุญาตให้มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ รับนักศึกษาต่างชาติได้ หากฮาร์วาร์ดไม่ส่งมอบทะเบียนประวัตินักศึกษาต่างชาติที่มีส่วนร่วมใน “กิจกรรมที่ผิดกฎหมายและรุนแรง”
อย่างไรก็ดี ฮาร์วาร์ดออกแถลงการณ์ตอบโต้เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ว่า จะไม่ยอมละทิ้งสิทธิหรือความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย โดยระบุว่า “เราจะปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป และคาดหวังให้ฝ่ายบริหารทำเช่นเดียวกัน”
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้ขอให้แอนดรูว์ เดอ เมลโล หัวหน้านิติกรของกรมสรรพากร เพิกถอนสถานะยกเว้นภาษีของฮาร์วาร์ด ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยที่รวยที่สุดของประเทศต้องเสียภาษีเงินได้จำนวนมาก
ทรัมป์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เป็นครั้งแรกผ่านทางโพสต์บน Truth Social เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ว่า “บางทีฮาร์วาร์ดควรจะสูญเสียสถานะยกเว้นภาษี และถูกเก็บภาษีในฐานะองค์กรทางการเมือง หากยังคงผลักดัน ‘ความเจ็บป่วย’ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อุดมการณ์ และการสนับสนุนการก่อการร้าย” ก่อนที่จะขู่อีกครั้งในเดือนพ.ค.ว่า “เราจะถอนสถานะยกเว้นภาษีของฮาร์วาร์ด มันเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว”
ฮาร์วาร์ดได้ยื่นฟ้องฝ่ายบริหารของทรัมป์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เม.ย. เพื่อขอคัดค้านการอายัดเงิน 2.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยระบุว่า “ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการตัดสินใจทางวิชาการของฮาร์วาร์ด”
แต่การดำเนินการดังกล่าวไม่อาจหยุดยั้งฝ่ายบริหารได้ เมื่อรมว.ศึกษาธิการประกาศเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ว่า ฮาร์วาร์ดไม่มีสิทธิได้รับเงินทุนสนับสนุนงวดใหม่จากรัฐบาลกลาง โดยในอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ฮาร์วาร์ดถูกตัดเงินทุนสนับสนุนอีก 450 ล้านดอลลาร์ และอีกหลายวันต่อมา เงินทุนมูลค่า 60 ล้านดอลลาร์จากกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ได้ถูกยกเลิก ทำให้ยอดรวมเงินทุนสนับสนุนที่ฮาร์วาร์ดสูญเสียไปนั้นคิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิได้ยกเลิกใบรับรอง SEVP ของฮาร์วาร์ด โดยอ้างว่ามหาวิทยาลัยอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ “ต่อต้านอเมริกาและสนับสนุนการก่อการร้าย กระทำการคุกคามและทำร้ายร่างกายบุคคล ตลอดจนขัดขวางสภาพแวดล้อมการเรียนรู้”
โนมยังกล่าวหาฮาร์วาร์ดว่าทำงานร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน พร้อมให้เวลาฮาร์วาร์ด 72 ชั่วโมงในการส่งมอบบันทึกข้อมูลของนักศึกษาต่างชาติที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ความรุนแรง การคุกคามบุคลากรหรือนักศึกษา หรือกิจกรรมประท้วงทั้งในและนอกวิทยา
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นสถานที่เล่าเรียนของนักศึกษาต่างชาติราว 6,800 คนจากกว่า 140 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 27% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด การเพิกถอนใบรับรอง SEVP นี้หมายความว่า ฮาร์วาร์ดไม่สามารถรับนักศึกษาต่างชาติใหม่ได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2568-2569 และนักศึกษาปัจจุบันที่ไม่ใช่ปีสุดท้ายจะต้องตัดสินใจว่าจะย้ายไปยังสถาบันที่ได้รับการรับรอง SEVP หรือเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานะทางกฎหมายในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปี 2568 สามารถเรียนจนจบหลักสูตรได้ตามปกติ ส่วนนักศึกษาต่างชาติที่ได้รับการตอบรับเข้าเรียนใหม่และมีกำหนดจะเข้าเรียนในฤดูใบไม้ร่วงนี้ จะถูกห้ามเข้าศึกษา เว้นเสียแต่ว่าคำสั่งดังกล่าวจะถูกยกเลิก
หลังจากการประกาศเพิกถอนใบรับรอง SEVP ของฮาร์วาร์ด รมว.กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิได้ขู่มหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐฯ ผ่านทาง Fox News ว่า “นี่ควรเป็นคำเตือนสำหรับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทุกแห่ง”
ถ้อยแถลงดังกล่าวของโนมนับเป็นการส่งสัญญาณว่า สถาบันใดก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลกลางอาจกลายเป็นเป้าหมายต่อไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น นักศึกษาต่างชาติในสถาบันเหล่านี้ก็อาจต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับนักศึกษาฮาร์วาร์ดกล่าวคือ ถ้าไม่ย้ายที่เรียน ก็อาจจะต้องสูญเสียสถานะทางกฎหมายในสหรัฐฯ
สถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงขอบเขตอำนาจของรัฐบาลในการเข้าแทรกแซงกิจการของสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศที่เคยได้ชื่อว่าเสรีและเปิดกว้างที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 68)
Tags: SCOOP, Spotlight, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, โดนัลด์ ทรัมป์