รฟท.คิกออฟดินรถไฟทางคู่สายเหนือช่วงโคกกะเทียม-ปากน้ำโพวันนี้ ส่วนสถานีลพบุรี 2 เปิดปลายปีนี้

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่าตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 26 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป รฟท. พร้อมเปิดให้บริการโครงการรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ เฉพาะช่วงสถานีโคกกะเทียม – สถานีปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตรโดยครอบคลุมสถานีให้บริการทั้งหมด 19 แห่ง และที่หยุดรถอีก 5 แห่ง รวมถึงศูนย์ควบคุมการเดินรถ (Central Traffic Control) แห่งใหม่ ณ สถานีนครสวรรค์ และย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) อีก 1 แห่ง ณ สถานีเขาทอง ซึ่งสามารถรองรับทั้งผู้โดยสารและสินค้าตลอดแนวเส้นทาง

โครงการรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ ช่วงระหว่างสถานีบ้านกลับ จังหวัดสระบุรี ถึงสถานีโคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี มีการก่อสร้างแนวเส้นทางใหม่ เป็นทางยกระดับพร้อมกับสร้างสถานีลพบุรี 2 ทำให้เป็นช่วงที่มีไฮไลท์สำคัญของโครงการ คือ “ทางรถไฟยกระดับยาวที่สุดในประเทศไทย” ระยะทางกว่า 19 กิโลเมตร ด้วยความสูงเฉลี่ย 10–20 เมตร แนวเส้นทางขนานไปกับทางหลวงหมายเลข 366 ซึ่งช่วงดังกล่าว และสถานีลพบุรี 2 จะสามารถเปิดให้บริการได้ในวันที่ 5 ธันวาคม 2568

โดยที่ สถานีลพบุรี 2 จะย้ายรถไฟทางไกลขบวนเชิงพาณิชย์ประมาณ 22 ขบวน/วัน ไปให้บริการ ซึ่งจะมีผู้โดยสารรถไฟทางไกลประมาณ 400 คน/วัน ส่วนขบวนรถท้องถิ่นอีกประมาณ 20 ขบวน /วันจะยังคงให้บริการที่สถานีลพบุรี 1 เหมือนเดิม เพื่อรองรับการเดินทางของชุมชน โรงเรียน และโรงพยาบาลและสถานีที่ราชการ ในพื้นที่

“สาเหตุที่ยังไม่เปิดใช้สถานีลพบุรี 2 ในขณะนี้ เนื่องจาก ต้องมีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนรับทราบก่อน รวมถึงระยะเวลาของระบบจองตั๋วล่วงหน้า 6 เดือน จึงเป็นช่วงต้นเดือนธันวาคมพอดี นอกจากนี้รฟท.จะหารือกับทางจังหวัดลพบุรี เพื่อจัดหาผู้ประกอบการเข้ามาเดินรถโดยสารเชื่อมต่อระหว่างสถานีลพบุรี 1 และสถานีลพบุรี 2 อีกด้วย”นายวีริศกล่าว

สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 งานโยธา ช่วงบ้านกลับ – โคกกระเทียม 29 กิโลเมตร (ทางรถไฟยกระดับ 19 กม. และระดับพื้น 10 กม.) พร้อมสถานีลพบุรี 2 ที่ขนานไปกับทางหลวงหมายเลข 366 ค่าก่อสร้าง 10,050 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค – ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กิโลเมตร เป็นทางระดับพื้นทั้งหมด มีสถานีใหม่ 6 แห่ง และสถานีที่ก่อสร้างทดแทน 11 แห่ง ค่าก่อสร้าง 8,649 ล้านบาท งานแล้วเสร็จ 100%

สัญญาที่ 3 ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ค่าก่อสร้าง2,988.57 ล้านบาท ณ.เดือนเม.ย. 2568 มีความก้าวหน้า 71.67 % ล่าช้ากว่าแผนงาน 45.12%

โดยในระหว่างที่การติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ยังไม่แล้วเสร็จ รฟท. ได้มีการใช้ระบบทางสะดวกอิเล็กทรอนิกส์ (E-token) เพื่อให้การเดินรถมีความปลอดภัยสูงสุด โดยระบบอาณัติสัญญาณจะทยอยเริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2568 และคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ตลอดเส้นทางช่วงมกราคม 2569

ทั้งนี้เมื่อระบบอาณัติสัญญาณแล้วเสร็จ จะลดระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพ-นครสวรรค์ จาก 3 ชั่วโมง 15 นาที เหลือ 2 ชั่วโมง 50 นาที

ทั้งนี้ การรถไฟฯ ขอแจ้งประกาศปรับเปลี่ยนเวลาเดินรถไฟสายเหนือจำนวน 5 ขบวน ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟทางคู่ช่วงดังกล่าว ดังนี้

1. ขบวนรถเร็วที่ 102 เส้นทางเชียงใหม่ – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

2. ขบวนรถธรรมดาที่ 207 เส้นทางกรุงเทพ (หัวลำโพง) – นครสวรรค์

3. ขบวนรถธรรมดาที่ 210 เส้นทางบ้านตาคลี – กรุงเทพ (หัวลำโพง)

4. ขบวนรถธรรมดาที่ 211 เส้นทางกรุงเทพ (หัวลำโพง) – ตะพานหิน

5. ขบวนรถท้องถิ่นที่ 408 เส้นทางเชียงใหม่ – นครสวรรค์

นอกจากนี้ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ ยังเชื่อมต่อไปยังโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ในช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย และช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการ ทั้งนี้ หากโครงการต่างๆ ดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้ขบวนรถตรงต่อเวลามากขึ้นและสามารถลดระยะเวลาในการเดินทางลง เนื่องจากไม่ต้องหยุดรอหลีกทาง

ผู้ว่าฯรฟท. มั่นใจว่า การเปิดเดินรถในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ เป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายระบบรางของประเทศให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงทุกภูมิภาคเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ยังเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจตามแนวเส้นทาง ทั้งการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ 2 จำนวน 6 เส้นทางนั้น ผู้ว่าฯรฟท.กล่าวว่า รฟท.ได้ส่งเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว โดย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความเห็นมาแล้วขนาดนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สศช. ซึ่งมีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ประเด็นเรื่องความคุ้มค่า , หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกจัดลำดับการก่อสร้าง 6 โครงการแนวทางการหารายได้เพิ่มจากโครงสร้างพื้นฐาน และ CY ซึ่งขนาดนี้รถไฟอยู่ระหว่างทำข้อมูลเพื่อตอบ สศช.

ตามแผนคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ2 จำนวน 6 เส้นทาง ในเดือนพฤษภาคม 2569 โดยทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จ 4-5 ปี

โครงการรถไฟทางคู่ ระยะ2 จำนวน 6 เส้นทาง มีระยะทางรวม 1,310.84 กม. วงเงินลงทุน รวมทั้งสิ้น 297,926 ล้านบาท ประกอบด้วย เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.54 กม. วงเงินลงทุน 81,143.24 ล้านบาท, เส้นทาง ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 307.60 กม. วงเงินลงทุน 44,095.36 ล้านบาท, เส้นทาง ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 44.50 กม. วงเงินลงทุน 7,772.90 ล้านบาท, เส้นทาง ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168.20 กม. วงเงินลงทุน 30,422.53 ล้านบาท, เส้นทาง สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321.00 กม. วงเงินลงทุน 66,270.51 ล้านบาท , เส้นทาง เด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189.00 กม. วงเงินลงทุน 68,222.14 ล้านบาท

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 68)

Tags: , , , , ,
Back to Top