คดีฉ้อโกงในอังกฤษพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังมิจฉาชีพแห่ใช้กลโกงใหม่

ข้อมูลล่าสุดจากสมาคมยูเค ไฟแนนซ์ (UK Finance) ระบุว่า ในปี 2567 ภาคการเงินของอังกฤษต้องเผชิญกับคดีฉ้อโกงมากถึง 3.31 ล้านคดี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้น 12% จากปี 2566 โดยส่วนใหญ่เป็นการโจมตีแบบจำนวนมากแต่มูลค่าต่อครั้งต่ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามิจฉาชีพได้ปรับเปลี่ยนวิธีจากแผนการหลอกลวงที่ซับซ้อน มาเป็นการหลอกลวงแบบในวงกว้างและอย่างรวดเร็ว

แม้จำนวนคดีฉ้อโกงเพิ่มขึ้น แต่ยอดเงินที่ถูกขโมยยังคงอยู่ที่ 1.17 พันล้านปอนด์ (1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2566 ซึ่งสะท้อนว่าความพยายามของภาคการเงินในการต่อสู้กับอาชญากรรมประเภทนี้ยังมีข้อจำกัด โดยปัญหานี้คิดเป็น 41% ของอาชญากรรมที่มีการรายงานทั้งหมดในสหราชอาณาจักร และถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเงิน

เบน โดนัลด์สัน กรรมการผู้จัดการด้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของยูเค ไฟแนนซ์เตือนว่า การฉ้อโกงไม่เพียงส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสังคมและตัวบุคคลอย่างรุนแรง โดยเงินที่ถูกขโมยไปมักตกอยู่ในมือของกลุ่มอาชญากรรมที่มีการจัดตั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จิม วินเทอร์ หัวหน้าฝ่ายอาชญากรรมทางการเงินของเนชันไวด์ (Nationwide) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อบ้านรายใหญ่อันดับสองของอังกฤษระบุว่า ตัวเลขคดีฉ้อโกงที่ยูเค ไฟแนนซ์รายงานนั้นยังเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นเพราะยังมีเหยื่อจำนวนมากที่ไม่แจ้งความหรือไม่รายงานคดีที่เกิดขึ้น

จากผลสำรวจพบว่า ชาวอังกฤษ 1 ใน 7 ได้รับอีเมลที่อาจเป็นการฉ้อโกงในแต่ละวัน แต่ 43% ของพวกเขาระบุว่าจะไม่แจ้งความ แม้เป็นผู้เสียหายหรือพบเห็นการฉ้อโกงก็ตาม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อังกฤษกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการฉ้อโกงระดับโลกจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งระบบโอนเงินที่รวดเร็ว การบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้มงวดเพียงพอ และมีการใช้ภาษาอังกฤษมากที่สุดซึ่งเป็นภาษาหลักที่ใช้กันทั่วโลก ซึ่งเอื้อให้กลุ่มอาชญากรสามารถขยายเครือข่ายหลอกลวงได้ง่าย

ในอดีตนั้น อุตสาหกรรมการเงินพุ่งเป้าไปที่การฉ้อโกงในรูปแบบของการชำระเงินโดยได้รับอนุญาต (authorised payment fraud) โดยมิจฉาชีพหลอกให้เหยื่อโอนเงินให้เองผ่านการโน้มน้าว เช่น พูดคุยหลอกลวงนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีตรวจจับพฤติกรรมผิดปกติ รวมถึงการรณรงค์ให้ความรู้กับผู้บริโภค ได้ช่วยลดการฉ้อโกงในรูปแบบนี้ลงได้บ้าง โดยเฉพาะช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งผู้คนหันไปใช้งานช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น

ในปี 2567 มิจฉาชีพได้ปรับเปลี่ยนมาใช้รูปแบบใหม่คือการฉ้อโกงผ่านการซื้อของออนไลน์ (remote purchase fraud) ซึ่งอาศัยการแฮกหรือขโมยรหัส OTP ที่เหยื่อได้รับ แล้วนำไปสั่งซื้อสินค้าแทนเหยื่อบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้การหลอกลวงรูปแบบนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 68)

Tags: , ,
Back to Top