
บมจ.ดอนเมืองโทลเวย์ [DMT] ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ซึ่งเป็นการดำเนินการขั้นแรกของการเริ่มกระบวนการพิจารณาข้อพิพาทกับกรมทางหลวง เพื่อเรียกการเยียวยาชดเชยผลเสียต่อฐานะทางการเงินของบริษัทประมาณ 2,307,899,050 บาท
สืบเนื่องจากบริษัทเป็นผู้รับสัมปทานทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 (ถนนวิภาวดีรังสิต) จากกรมทางหลวง รวม 2 ตอน ได้แก่ สัมปทานทางหลวงตอนดินแดง – ดอนเมือง และสัมปทานทางหลวงตอนดอนเมือง – อนุสรณ์สถาน โดยระหว่างอายุสัญญาสัมปทานในปี 2563 ถึงปี 2565 ปรากฏว่าเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร อันเป็นเหตุสุดวิสัยตามสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้ปริมาณการจราจรที่ใช้ทางหลวงสัมปทานทางหลวงเดิมและทางหลวงสัมปทานตอนต่อขยายทางด้านทิศเหนือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสัญญาสัมปทานโดยแจ้งเหตุสุดวิสัยให้กรมทางหลวงทราบ
ต่อมา บริษัทได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยดังกล่าว จึงมีหนังสือขอให้กรมทางหลวงแก้ไขผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทฯ ตามหน้าที่ของบริษัทฯ และกรมทางหลวงซึ่งกำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน จากนั้น บริษัทฯ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระเพื่อประเมินการสูญเสียปริมาณการจราจรและรายได้ค่าผ่านทางของทางหลวงสัมปทานทั้งสองตอน ในระหว่างวันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ระยะเวลาประมาณ 2 ปี 6 เดือน ช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุสุดวิสัยขึ้น
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาอิสระประเมินว่าบริษัทสูญเสียปริมาณจราจรของทางหลวงสัมปทานทั้งสองตอนรวม 63,804,258 คัน คิดเป็นจำนวนเงินรายได้ค่าผ่านทางที่บริษัทสูญเสียไปรวม 4,297,787,290 บาท ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อฐานะทางการเงินของบริษัท 2,307,899,050 บาท (มูลค่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2565) โดยบริษัทได้มีหนังสือนำส่งรายงานการศึกษาของที่ปรึกษาอิสระต่อกรมทางหลวงแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้รับการเยียวยาชดเชยจากกรมทางหลวง จึงจำเป็นต้องใช้สิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 68)
Tags: COVID-19, DMT, กรมทางหลวง, ดอนเมืองโทลเวย์, โควิด-19