
รายงานผลการศึกษาล่าสุดเผยให้เห็นว่า หลายประเทศในเอเชียเพิ่มงบประมาณจัดซื้ออาวุธและงานวิจัยด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น พร้อมขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจากต่างชาติ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพภายในประเทศ
รายงานประเมินความมั่นคงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปีของสถาบันนานาชาติเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (IISS) ระบุว่า แม้หลายประเทศมีเป้าหมายที่จะพึ่งพาตนเองในท้ายที่สุด แต่ความช่วยเหลือจากภาคอุตสาหกรรมต่างประเทศยังมีความสำคัญ
รายงานชี้ว่า ความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลาง รวมถึงการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีความเข้มข้น และสถานการณ์ความมั่นคงที่เสื่อมถอยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อาจส่งผลให้ความร่วมมือทางอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศเพิ่มมากขึ้น
ตัวเลขการใช้จ่ายด้านการจัดซื้ออาวุธและการวิจัยของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เพิ่มขึ้นประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2565-2567 สู่ระดับ 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยหลายประเทศในภูมิภาคยังคงพึ่งพาการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีสูง เช่น เรือดำน้ำ เครื่องบินรบ โดรน จรวด และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสอดแนมและเก็บข้อมูลข่าวกรอง
อย่างไรก็ดี แม้ว่างบประมาณจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ประเทศเหล่านี้ยังคงใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศที่ 1.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งค่อนข้างคงที่ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ก่อนการประชุมด้านความมั่นคง Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะมุ่งหารือเกี่ยวกับความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดจากความขัดแย้งยืดเยื้อในยูเครน นโยบายความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐฯ และความตึงเครียดเกี่ยวกับไต้หวัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 68)
Tags: ความมั่นคง, จัดซื้ออาวุธ, เอเชีย