“คุณสู้ เราช่วย เฟส 2” ปรับเงื่อนไขมาตรการเดิม-เพิ่มมาตรการใหม่ ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่มีปัญหาในการชำระหนี้ และพบว่าลูกหนี้ยังให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” อย่างต่อเนื่อง แต่บางส่วนไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

ดังนั้น กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธปท. ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ จึงเห็นควรขยายระยะเวลาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 1 (จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 68) โดยให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 2

โดย “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 2 ได้ปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการเดิม และมีมาตรการใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากขึ้น

“งบประมาณในการช่วยเหลือยังสามารถรองรับลูกหนี้ในเฟส 2 ได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจจะไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายในการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน แต่เน้นให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องไว้ใช้ ไม่ต้องจ่ายหนี้เยอะ ๆ แต่หากดูตัวหนี้ครัวเรือนพบว่าทยอยปรับลดลงในช่วงไตรมาสที่ 3-4 โดยตัวเลข ณ ไตรมาสที่ 1/68 ปรับลดลงมาต่ำกว่า 88% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อที่ไม่ได้ขยายตัว และจีดีพีที่โต ทำให้สัดส่วนปรับลดลง” น.ส.สุวรรณี กล่าว

ส่วนประเด็นที่มีความเป็นห่วงเรื่องห้ามก่อหนี้ใหม่ 12 เดือนหากเข้าร่วมโครงการนั้น มองว่า มาตรการดังกล่าวจะไม่ทำให้ลูกหนี้ขาดสภาพคล่อง เพราะลูกหนี้ยังมีสภาพคล่องส่วนเพิ่มจากค่างวดที่ลดลง เช่น ลูกหนี้ในมาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ จะเห็นว่าค่างวดในปีแรกจะลดลงถึง 50% กรณีผ่อนบ้านอยู่ 10,000 บาท จะเหลือค่าผ่อนเพียง 5,000 บาท ทำให้ลูกหนี้จะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเดือนละ 5,000 บาท โดยไม่มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มเติม

สำหรับความคืบหน้าประเด็นอัตราการปรับชำระหนี้ขั้นต่ำบัตรเครดิต (Minimum Payment) ปัจจุบันส่วนงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งธปท.ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการ และประเมินสถานะของลูกหนี้ ซึ่งคาดว่าในเร็ว ๆ นี้จะสามารถแจ้งความคืบหน้าในรายละเอียดได้

ด้านภาพรวมการช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 1 จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. 68 พบว่า มีลูกค้าเข้าโครงการจำนวน 1.4 ล้านราย หรือคิดเป็น 1.9 ล้านบัญชี หากดูแยกตามรายบัญชี จะพบว่า โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สามารถช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท ชะลอจาก 5.52% มาอยู่ที่ 4.53% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หนี้เสียทรงตัวไม่ได้ปรับขึ้นหรือลดลง

ขณะเดียวกัน มาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” สามารถช่วยชะลอการไหลจาก SM ไปเป็นหนี้ NPL ได้ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท อัตราการไหลจากเดิม ณ ไตรมาสที่ 4/67 อยู่ที่ 9% มาอยู่ที่ 7% ณ ไตรมาสที่ 1/68 และสินเชื่อเอสเอ็มอีจาก 17% เหลือ 15% และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 6%

อีกทั้ง ยังช่วยชะลออัตราการยึดรถให้ปรับลดลง และช่วยทำให้ราคารถมือสองมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งพบว่า อัตราการยึดรถปรับลดลงจากช่วงไตรมาสที่ 3/67 จากที่เคยสูงสุดอยู่ที่ 38,947 คัน ทยอยปรับลดลงมาเหลือที่ 26,462 คันในไตรมาสที่ 1/68 และการขาดทุนรถยึด (Loss On Sale) ทยอยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 42% จากเคยสูงกว่า 50% ส่งผลให้ราคามีเสถียรภาพมากขึ้น

 

*ปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการเดิม เพิ่มมาตรการใหม่

ด้าน น.ส.พจมาน กังวาฬไกรไพศาล ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 2 ได้ปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการเดิม และมีมาตรการใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากขึ้น สำหรับลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ดังนี้

มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ขยายคุณสมบัติลูกหนี้ที่เข้ามาตรการให้ครอบคลุมถึง

  1. ลูกหนี้ที่มีวันค้างชำระเกิน 365 วัน
  2. ลูกหนี้ที่เคยมีประวัติค้างชำระน้อยกว่าที่กำหนดในระยะที่ 1 คือ เคยค้างชำระ 1-30 วัน และเคยปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้

มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” ขยายเพดานภาระหนี้ของลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น

  1. สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 10,000 บาทต่อบัญชี
  2. สินเชื่อที่มีหลักประกัน (secured loan) ซึ่งได้มีการบังคับหลักประกันแล้ว และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกินกว่าที่กำหนด (วงเงินสินเชื่อบ้าน หรือ สินเชื่อ SMEs ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อบัญชี สินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาทต่อบัญชี สินเชื่อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี) ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 30,000 บาทต่อบัญชี เพื่อให้ลูกหนี้เหล่านี้สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก “หนี้เสีย” เป็น “ปิดจบหนี้” และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น

มาตรการที่ 3 “จ่าย ตัด ต้น” ซึ่งเป็นมาตรการใหม่สำหรับหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี และเป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) โดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไขการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (term loan) และผ่อนชำระ 2% ของเงินต้นคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งค่างวดที่ชำระจะนำไปตัดเงินต้นทั้งจำนวน สำหรับดอกเบี้ยจะพักแขวนไว้ และจะได้รับยกเว้นดอกเบี้ยในระหว่างมาตรการหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ทั้งในปัจจุบันและระยะต่อไปได้

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 68

“สำหรับลูกหนี้ประมาณการที่คาดว่าจะเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 จะอยู่ที่ 1.8 ล้านราย หรือ 2.0 ล้านบัญชี และมูลหนี้ 3.1 แสนล้านบาท หากรวมเป้าหมายเฟส 1 จะมีลูกหนี้เข้าร่วมทั้งสิ้น 3.7 ล้านราย หรือ 4.1 ล้านบัญชี มูลหนี้รวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งมาตรการ “จ่าย ตัด ต้น” เป็นมาตรการใหม่ที่เพิ่มเข้ามา แม้ว่ามูลหนี้จะไม่สูงมาก แต่จะช่วยคนจำนวนมากได้ ซึ่งจะช่วยให้เขามีสภาพคล่องในการจ่ายหนี้ที่ลดลง” น.ส.พจมาน กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 68)