
การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานเป็นสิ่งที่จำเป็น การลงทุนเพื่อผลิตพลังงานสะอาด ลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยให้เรามุ่งหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ แต่การเปลี่ยนผ่านนี้มีต้นทุนที่สังคมต้องจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะเป็นหัวใจสำคัญในการมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนและสังคมคาร์บอนต่ำ แต่การเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีต้นทุน สังคมต้องเผชิญกับผลกระทบที่ตามมา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ แรงงาน และความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนท้องถิ่นที่อาจสูญเสียรายได้จากระบบพลังงานเดิม หรือยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการเข้าถึงโอกาสจากระบบพลังงานใหม่
ผู้คนและชุมชนจะได้รับความเป็นธรรมในการเปลี่ยนผ่านนี้ได้อย่างไร และรัฐจะมี “ตัวช่วย” ใดที่ทำให้คนในสังคมนั้นไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป และขณะเดียวกันก็ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่เกษตรกรในชุมชนนั้นจะมีส่วนเป็นเจ้าของระบบผลิตไฟฟ้าที่ใช้ของเหลือจากพลังงานชีวมวลที่มาจากผลิตผลทางการเกษตรในชุมชนเอง ชุมชนนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก “กองทุน” ของรัฐที่ช่วยส่งเสริมการผลิตและใช้ไฟฟ้าแบบกระจายตัว และพึ่งพาไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศน้อยลง ?
Darren McCauley และ Rahael Heffron (ในงานวิชาการชื่อ “Just Transition: Integrating climate and environmental justice”) อธิบายว่า แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านอย่างยุติธรรมถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 เพื่อตอบสนองต่อปัญหาเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริม “งานสีเขียว” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวมักนำไปสู่การปิดตัวของอุตสาหกรรมดั้งเดิมจำนวนมากที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิล
หนึ่งในข้อถกเถียงสำคัญคือ มีคนที่อาจจะต้องสูญเสีย “งาน” เนื่องจากการที่รัฐจะต้องส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมหรือภูมิอากาศ งานวิจัยหลายฉบับชี้ว่า งานสีเขียว หรือ พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว อาจไม่ได้ “มีที่” สำหรับคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้เปราะบาง รัฐจะทำอย่างไรที่จะคุ้มครองกลุ่มคนเหล่านี้ รัฐจะบริหารจัดการทรัพยากรทางการเงินอย่างไรเพื่อช่วยเหลือผู้ที่อาจสูญเสียงานจากภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งการลงทุนในการพัฒนาศักยภาพแรงงานให้สามารถประกอบอาชีพในงานสีเขียวได้
ในบริบทนี้ นโยบายด้านพลังงานของรัฐย่อมไม่จำกัดเฉพาะความยั่งยืนของระบบพลังงาน แต่ยังมีมิติด้านความเป็นธรรมในสังคมอีกด้วย แนวคิดที่ว่านี้สามารถพิจารณาผ่าน “กรอบแนวคิดการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม (Just Transition Framework)” ที่เรียกร้องให้การเปลี่ยนผ่านนั้นจะต้องคำนึงถึง “ความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม” “ความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศ” และ “ความเป็นธรรมด้านพลังงาน” ประกอบกัน
การสร้างความยุติธรรมในช่วงการเปลี่ยนผ่านจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงิน ในประเด็นความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม คำถามสำคัญคือ กองทุนภูมิอากาศ ควรจัดสรรทรัพยากรทางการเงินอย่างไรเพื่อป้องกันหรือเยียวยาภาระที่เกิดขึ้นอย่างไม่สมส่วนจากความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม และจะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในการกำหนด ดำเนินการ และบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการบริหารกองทุนนั้นควรมีวิธีการบริหารทรัพยากรทางการเงินเพื่อป้องกันและเยียวยาต้นทุนหรือความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ตกอยู่กับกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองน้อยอย่างไม่เป็นธรรม ในส่วนของความเป็นธรรมด้านพลังงาน หน่วยงานรัฐเหล่านี้ควรตรวจสอบว่า มี “ความ อยุติธรรม” ใดบ้างที่ได้เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น หากประเทศไทยจะลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและลดขนาดของอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติลงจะเกิดผลเสียใดกับใครหรือไม่ ตามรายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ก๊าซธรรมชาติมีส่วนร่วมในระบบการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ถึงร้อยละ 60.70 หากก๊าซธรรมชาติเป็นที่ต้องการน้อยลง อาจส่งผลต่อจำนวนงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ (โดยอาจมีบางส่วนที่ไม่ได้งานสีเขียว) ประเทศไทยจะสามารถจัดสรรเงินจากกองทุนภูมิอากาศเพื่อคุ้มครองบุคคลที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ได้หรือไม่?
เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายนี้ ประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากแนวทางการบริหารจัดการ โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งได้พัฒนากองทุนด้านสภาพภูมิอากาศไว้อย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดของกองทุน Just Transition Fund (JTF) ของสหภาพยุโรป (EU JTF Regulations) ที่มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนผ่านด้านสภาพภูมิอากาศ โดยสนับสนุนภูมิภาคและแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
ประเทศไทยมีความพยายามตั้งกองทุนภูมิอากาศในร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. มาตรา 19 ซึ่งบัญญัติว่า ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนภูมิอากาศ” ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เสมอภาคและเป็นธรรม สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และศักยภาพให้กับประเทศไทยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กองทุนภูมิอากาศอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีจุดประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และสร้างภูมิคุ้มกันในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุนภูมิอากาศนี้มีสถานะเป็น “นิติบุคคล” แต่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ตามระบบราชการส่วนกลาง และไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
โดยที่รายได้ของกองทุนจะมาจากเงินรายได้ เช่น รายได้จากระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรายได้จากกลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน เงินค่าธรรมเนียมจากการอนุญาตให้ใช้เครดิตคาร์บอนเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ และเงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรืองบประมาณแผ่นดิน โดยเงินเหล่านี้ได้รับการยกเว้นจากการนำส่งคลัง ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
เงินของกองทุน สามารถใช้จ่ายได้เฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 22 คือเงินกู้ยืม หรือเงินให้เปล่า แก่หน่วยงานที่กำหนด เช่น หน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา หรือชุมชน โดยอย่างน้อยต้องคำนึงถึงเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย นโยบายและแผนการพัฒนาของประเทศที่มุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ขีดความสามารถในการดำเนินงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และการกระตุ้นการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ในประเทศไทยที่ปล่อยคาร์บอนต่ำหรือที่มีความยืดหยุ่นและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หากเปรียบกับกองทุนอื่น ๆ ในประเทศไทย เช่น กองทุนพัฒนาไฟฟ้า กล่าวได้ว่ากองทุนภูมิอากาศมีขอบวัตถุประสงค์ในการจ่ายเงินที่ “กว้างกว่า” ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 93 บัญญัติไว้ว่า ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงาน เรียกว่า “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึงเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า
กองทุนนี้มีจุดประสงค์ให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง พัฒนาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่สะอาด และสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า โดยรายได้ที่ได้จากมาตรา 94 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินเช่นเดียวกับกองทุนภูมิอากาศ และการบริหารจัดการเงินจะแยกออกจากงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยจุดประสงค์ในการใช้เงินกองทุน เพื่อการชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการฝ่าฝืนของผู้รับใบอนุญาตศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้กรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ทั้ง กองทุนภูมิอากาศ และ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ต่างมีเป้าหมายปลายทางที่เทียบเคียงกันได้ กล่าวคือมีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน เช่น กองทุนพัฒนาฯ มีการไฟฟ้าเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานไฟฟ้า และกองทุนภูมิอากาศ ให้เงินสนับสนุนผู้ได้รับผลกระทบจากการลดจำนวนลงของพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองกองทุนมีวัตถุประสงค์และกรอบการดำเนินงานที่แตกต่างกัน โดยกองทุนภูมิอากาศจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเงินในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม และเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในขณะที่ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า จัดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์ที่จำกัดกว่า เช่น “เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า” และ “เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย” กรอบในการจ่ายเงินนี้ทำให้เกิดคำถามว่าเกษตรกรในชุมชนหนึ่งซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าจะสามารถขอรับการสนับสนุนทางการเงินเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลในชุมชนของตนได้หรือไม่ ?
การส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเป็นเจ้าของและได้รับประโยชน์จากโครงการพลังงานในชุมชนนั้นปรากฏตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 ได้นิยาม “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” คือ โครงการจัดตั้งโรงไฟฟ้าที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ และให้ผลประโยชน์คืนกลับสู่ชุมชน โดยชุมชนเป็นหุ้นส่วน ในการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าร่วมกับภาคเอกชน ผ่านทางวิสาหกิจชุมชน โดยจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย
จุดประสงค์สำคัญของโครงการ คือ การส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ระดับฐานรากผ่านการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ชุมชนมีบทบาทเป็น “หุ้นส่วน” กับภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยให้ชุมชนเข้าร่วมผ่านทาง วิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นกลไกหลักในการถือหุ้นร่วม ดำเนินกิจการ และรับผลประโยชน์จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย และชุมชนรอบโรงไฟฟ้ายังมีส่วนร่วมในการทำความตกลงกับผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าในผลประโยชน์อื่นๆ เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา อีกด้วย ซึ่งสะท้อนแนวคิดการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างยุติธรรม โดยเฉพาะในด้านป้องกันภาระที่เกิดขึ้นอย่างไม่สมส่วนจากความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม และจะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในการกำหนด ดำเนินการ และบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อีกบทบาทหนึ่งคือ วิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนมีบทบาทสำคัญในการจัดหาพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า โดยผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากจะต้องมี สัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract farming)
คำถามคือหากชุมชนต้องการได้รับเงิน ควรจะเป็นหน้าที่ของกองทุนใดระหว่าง “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” ตามมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และ “กองทุนภูมิอากาศแห่งชาติ” ตามร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หากวิเคราะห์จากวัตถุประสงค์ของกองทุน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนด้านการให้บริการไฟฟ้า สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน และกระจายความเจริญไปสู่ชุมชน ซึ่งตรงกับเป้าหมายของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ และมีการพัฒนาชุมชนโดยตรง กองทุนนี้มีประสบการณ์และกลไกที่เอื้อต่อการให้เงินสนับสนุนแก่ชุมชนในระดับท้องถิ่นโดยตรง ผ่านการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
ในทางกลับกัน กองทุนภูมิอากาศแห่งชาติ แม้มีวัตถุประสงค์กว้างในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และสามารถให้เงินแก่ชุมชนได้เช่นกันในแง่การสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่บทบาทหลักของกองทุนนี้คือช่วยเหลือประชาชนที่มีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ในเชิงนโยบายและสร้างขีดความสามารถระดับชาติ มากกว่าการสนับสนุนโครงการที่เน้นพัฒนาท้องถิ่นเป็นรายกรณี
หากคนในชุมชนนั้นสามารถแสดงได้ว่าโครงการของโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนั้นมีส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างชัดเจน เช่น กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เป็นกลไกสำคัญระดับโลกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยในโครงการ ชุมชน Adjuntas ร่วมก่อตั้งระบบไมโครกริดโซลาร์หลังพายุเฮอร์ริเคน Maria โดยมีชุมชนเป็นผู้ถือหุ้นหลัก โครงการได้รับเงินทุนจาก Honnold Foundation ร่วมกับ GCF และมีวัตถุประสงค์เพื่อคืนอำนาจและรายได้ให้แก่ชุมชนโดยตรง
โดยสรุป กองทุนภูมิอากาศ มีศักยภาพในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างยุติธรรมเนื่องจาก เป็นกองทุนที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน เสมอภาค และเป็นธรรม โดยเฉพาะทั้งยังสามารถจัดสรรทรัพยากรทางการเงินให้แก่ชุมชนหรือหน่วยงานที่มีบทบาทในการลดหรือปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในรูปแบบเงินให้เปล่าหรือเงินกู้ เพื่อสนับสนุนกิจกรรม เช่น การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาข้อมูลหรือเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชนต่อความเสี่ยงทางภูมิอากาศ และการป้องกันและเยียวยาผลกระทบต่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน
กองทุนนี้มี โครงสร้างการบริหารจัดการที่เปิดโอกาสให้ชุมชนและองค์กรภาคประชาชนเข้าถึงได้ ผ่านกลไกที่ไม่ขึ้นตรงกับระบบงบประมาณปกติของรัฐ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรจะนำแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านอย่างยุติธรรม (Just Transition) มาเป็นฐานในการออกแบบกฎเกณฑ์กติกาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเงินในกองทุนภูมิอากาศต่อไป
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)
หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 68)