UN เผยแผนปฏิบัติการกระตุ้นลงทุนภาคเอกชนในประเทศกำลังพัฒนา

องค์การสหประชาชาติ (UN) จัดการประชุมว่าด้วยการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาครั้งที่ 4 (FFD4) ซึ่งพันธมิตรจากทั่วโลกได้ประกาศแผนปฏิบัติการใหม่เพื่อขยายการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศกำลังพัฒนาผ่านการเงินแบบผสมผสาน

ผลลัพธ์ที่สำคัญภายใต้แผนซึ่งมีชื่อว่า “Compromiso de Sevilla” ประกอบด้วยการเปิดตัวงานเสวนากลุ่มผู้กู้ที่ได้รับการสนับสนุนจาก UN เพื่อช่วยจัดหาเงินทุนให้กับตลาดที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่

รีเบกา กรินสแปน เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เป็นผู้เปิดตัวแผนปฏิบัติดังกล่าว ซึ่งมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาความยากจน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ด้วยการรวมทรัพยากรสาธารณะเข้ากับทุนเอกชน

แผนริเริ่มนี้ประกอบด้วยแผนงานพิเศษสำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) และแอฟริกา โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับแต่งกลยุทธ์ทางการเงินแบบผสมผสานให้เข้ากับบริบทในท้องถิ่น และกระตุ้นการลงทุนในภาคส่วนที่มีความสำคัญ

ทั้งนี้ มีพันธมิตรจำนวนมากที่สนับสนุนความพยายามนี้ ได้แก่ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คณะกรรมาธิการสหภาพแอฟริกา (AUC) กองทุนพัฒนาเงินทุนแห่งสหประชาชาติ (UNCDF) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติสำหรับแอฟริกา (UNECA) และหน่วยงานด้านการพัฒนาจากฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกับกลุ่มภาคเอกชน เช่น GISD Alliance และ Convergence Blended Finance

แม้ว่าสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 482 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา (ไม่รวมจีน) เพียง 5% และน้อยยิ่งกว่านั้นในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด 44 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันถึง 880 ล้านคน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 68)