ท่องเที่ยวทรุดถอดรหัส 3 เหตุผลจีนหาย หวัง High Spending หนุน ดึงกองถ่ายต่างชาติสร้าง Soft Power

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เผชิญแรงกดดันจากตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่หดตัวรุนแรง คาดปี 2568 อยู่ที่ราว 5.5 ล้านคน ฟื้นตัวเพียง 50% จากปี 2562 แต่ยังได้แรงหนุนจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม High Spending จะมีส่วนช่วยพยุงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มีมูลค่าราว 1.74 ล้านล้านบาท ฟื้นตัวที่ระดับ 91% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด แนะสนับสนุนทุนสร้างภาพยนตร์หรือซีรีส์ต่างชาติในไทย เชื่อเป็นแรงกระเพื่อมด้าน Soft Power ที่สำคัญ และเป็นหนึ่งในโอกาสใหม่สำหรับภาคท่องเที่ยวของไทย

นายสุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ นับเป็นปีแห่งความท้าทายของภาคท่องเที่ยวไทย ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ที่เคยเป็นกลุ่มรายได้หลัก ส่งสัญญาณลดลงอย่างมากต่อเนื่อง และอาจจะฟื้นได้ราว 50-65% เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

แต่ทั้งนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่มแมส อย่าง มาเลเซีย และอินเดีย และกลุ่ม High Spending อาทิ ยุโรป รัสเซีย และอิสราเอล ที่เข้ามาช่วยพยุงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มีมูลค่าราว 1.74-1.95 ล้านล้านบาท ซึ่งสถานการณ์ในครั้งนี้ คงกระทบต่อผู้ประกอบการใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว และช่วยประคับประคองผู้ประกอบการใน Supply Chain อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ควบคู่กับการปรับตัวของภาคเอกชนให้สอดคล้องกับเทรนด์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง Ecosystem เพื่อผลักดันให้ไทยกลับมาครองใจนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลากหลายมากขึ้น และลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป รวมทั้งเป็นเครื่องยนต์ที่ทรงพลัง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างและกระจายรายได้” นายสุปรีย์ ระบุ

 

  • 3 เหตุผล คนจีนเบนเข็มเที่ยวประเทศอื่น

ด้าน นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า 3 เหตุผล ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่มาไทย ในช่วง 1-2 ปีนี้ ได้แก่

  1. ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของประเทศไทย โดยผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยในไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าในอดีต โดยอาจใช้เวลาถึง 1 ปี กว่าที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
  2. พฤติกรรมและกลุ่มของนักท่องเที่ยวจีนที่เปลี่ยนไป โดยนักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม FIT (Free Independent Traveler) ที่มักมองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจน ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของไทย อาจมีความแปลกใหม่ที่น้อยกว่าประเทศคู่แข่งเช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่มีการพัฒนา Destination ใหม่ ๆ
  3. ผลกระทบจากภาวะเศรษฐจีนที่ชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อของชาวจีนยังไม่กลับมาในระดับเดิม ทำให้นักท่องเที่ยวจีนบางส่วนเลือกเดินทางในประเทศ ทดแทนการท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
  • หวังกลุ่ม High Spending ทดแทนรายได้นักท่องเที่ยวจีนที่หายไป

ขณะที่ นายธนา ตุลยกิจวัตร นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเสริมว่า ปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทย คือ นักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมา และยังต้องแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคที่ทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น แม้ว่าตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย และยุโรป จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการหายไปของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวที่ไม่ทั่วถึง

โดยแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม High Spending ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมในระดับ 4-5 ดาว แต่ธุรกิจอื่น ๆ ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนหดตัวรุนแรง เช่น โรงแรมในระดับไม่เกิน 3 ดาว, ร้านอาหาร, Street Food, คอนโดมิเนียม รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจรถเช่า, ร้านขายของที่ระลึก, บริษัทนำเที่ยว ฯลฯ และอาจขยายวง กว้างไปยังธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้และของตกแต่งในโรงแรม เป็นต้น

“ภาครัฐ ยังเป็นกำลังสำคัญที่มีบทบาทในการพยุงภาคท่องเที่ยวไทย ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ท้าทายในครั้งนี้ ด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มข้น และครอบคลุมทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งมาตรการเรียกความเชื่อมั่น และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อม ๆ ไปกับมาตรการที่ช่วยพยุงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง” นายธนา ระบุ

นอกจากนี้ Krungthai COMPASS มองว่า การสนับสนุนทุนสร้างภาพยนตร์ หรือซีรีส์ต่างชาติในประเทศไทย จะเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมด้าน Soft Power ที่สำคัญ และเป็นหนึ่งในโอกาสใหม่สำหรับภาคท่องเที่ยวของไทย โดยประเมินว่า จุดคุ้มทุน (Break-even) ของการโปรโมทประเทศไทย ด้วยวิธีออกทุนผลิตซีรีส์ 1 EP จะอยู่ที่การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 500-1,000 คน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 68)