
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า รายได้อุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 68 มีแนวโน้มขยายตัว แม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากราคาส่งออกที่ลดลง แต่ปริมาณผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากกลายเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยพยุงรายได้ของอุตสาหกรรมโดยรวม
ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2567/2568 แล้ว โดยผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น 14.4% จากปีการผลิต 2566/2567 มาอยู่ที่ 10.1 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92.0 ล้านตัน จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย
อย่างไรก็ดี แม้ปริมาณผลผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในปี 68 กลับมีแนวโน้มปรับตัวลดลงราว -11.2%YOY สอดคล้องกับราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออกรวมพรีเมียมที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ (ใช้อ้างอิงราคาของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ) ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีการผลิตที่ผ่านมา ตามราคาน้ำตาลโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ ซึ่งส่งผลให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและจะกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลโลก
ทั้งนี้แม้ว่าราคาจะปรับตัวลดลง แต่มูลค่าการส่งออกน้ำตาลปี 68 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 34.3%YOY สะท้อนได้จากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 27.5%YOY แม้ว่าราคาส่งออกปรับตัวลดลง -16.7%YOY แต่ยังส่งผลให้มูลค่าส่งออกน้ำตาลโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3%YOY และคาดว่าในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปี มูลค่าการส่งออกจะเติบโตเร่งขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลในประเทศเป็นจำนวนมากที่ยังรอการส่งออก ประกอบกับสัดส่วนการส่งออกน้ำตาลทรายขาวที่ราคาสูงกว่าน้ำตาลทรายดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงน้อยกว่าช่วง 5 เดือนแรก
ขณะที่กำไรของธุรกิจโรงงานน้ำตาลโดยรวมในปี 68 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลมีกำลังการผลิตมากกว่าปริมาณอ้อยในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจะต้องแข่งขันกันจัดหาอ้อยมาป้อนโรงงานให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลง ซึ่งปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นในปีการผลิต 2567/2568 จะส่งผลให้การแข่งขันลดลง ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้สูงขึ้น ส่งผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการในปี 68 ทั้งนี้นอกจากการจัดหาวัตถุดิบแล้ว โรงงานน้ำตาลยังมีการแข่งขันกัน ด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ การยกระดับและพัฒนาคุณภาพสินค้า และการมุ่งสู่ความยั่งยืน
อย่างไรก็ดี การเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 68 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยภาวะเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลโลก ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากผลกระทบของนโยบายภาษีทรัมป์ที่รุนแรงกว่าคาด ก็จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลโลกเติบโตต่ำกว่าที่ประเมิน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาส่งออกน้ำตาลลดลงมากกว่าคาดการณ์
ในขณะที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตอ้อยในต่างประเทศ โดยหากบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก เผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรงน้อยกว่าที่คาด ก็จะทำให้ราคาส่งออกน้ำตาลปรับตัวลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมน้ำตาลยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ที่อาจจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำตาลในตลาดโลก และทำให้ราคาส่งออกน้ำตาลไทยปรับตัวลดลงน้อยกว่าคาด
ในระยะต่อไป อุตสาหกรรมน้ำตาลยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ กระแสความยั่งยืนและเทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภค โดยมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการการค้าระหว่างประเทศ การเก็บภาษีคาร์บอน จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่เมกะเทรนด์ความยั่งยืน (Sustainability) จะทำให้ผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบมีแนวโน้มที่จะหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้นในอนาคต
ส่วนกระแสรักสุขภาพ จะส่งผลให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจการรักษาสุขภาพ หันมาบริโภคสินค้าที่ปราศจากน้ำตาลมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลปรับตัวลดลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 68)