
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เนื้อหมูและเครื่องใน เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ที่ถูกนำมาใช้ต่อรองเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังจากสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากไทยในอัตรา 36% มีผลบังคับใช้ 1 ส.ค. 68 หากไทยเปิดให้หมูสหรัฐฯ ราคาถูกเข้ามาตีตลาด จะกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทานหมูไทย โดยเฉพาะเกษตรกรที่จะถูกบีบให้เลิกกิจการมากขึ้น รวมถึงมูลค่าตลาดเนื้อหมูที่อาจสูญเสียไปราว 112,330 ล้านบาท
- จับตา “เนื้อหมู-เครื่องใน” อาจตกเป็นหนึ่งในข้อต่อรองภาษีทรัมป์
เนื้อหมูและเครื่องใน เป็นหนึ่งในรายการสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ที่ถูกนำมาใช้ต่อรองเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังจากในวันที่ 7 ก.ค. 2568 สหรัฐฯ ได้ประกาศใช้อัตราภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ฉบับใหม่ โดยไทยโดนเรียกเก็บในอัตรา 36% และจะมีผลบังคับใช้ 1 ส.ค. 2568
ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีแนวโน้มกดดันให้ไทยนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องใน ที่ Made in USA เนื่องจากเป็นรายการสินค้าเกษตร เข้าข่ายที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ได้ประเมินไว้ให้ไทยต้องเปิดตลาด และเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ด้วยเหตุที่ไทยเก็บภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากสหรัฐฯ สูง ในขณะที่ไทยนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ในสัดส่วนน้อย
- หมูไทย แข่งขันสหรัฐฯ ยากทุกมิติ
หมูสหรัฐฯ มีความโดดเด่นในด้านการผลิตระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าไทย โดยเมื่อเปรียบเทียบกับในแต่ละด้าน จะพบว่า
1. ผู้ผลิต
- สหรัฐฯ : เป็นผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลก คิดเป็น 12.6 ล้านตัน หรือ 11% ของผลผลิตหมูทั้งโลก
- ไทย : ผลิตได้น้อยกว่าสหรฐฯ 8 เท่า หรือผลิตได้ราว 1.6 ล้านตัน
2. ผู้ส่งออก
- สหรัฐฯ : ผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 3.2 ล้านตัน หรือ 31% ของปริมาณส่งออกหมูทั้งโลก
- ไทย : ส่งออกน้อยมาก ใช้ในประเทศเป็นหลัก
3. อาหารเลี้ยงหมู
- สหรัฐฯ : มีความพร้อมด้านวัตถุดิบราคาถูก ทั้งข้าวโพดและถั่วเหลืองที่สหรัฐฯ ผลิตเองได้มาก
- ไทย : ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพด และถั่วเหลือง
4. ขนาดฟาร์ม
- สหรัฐฯ : ฟาร์มขนาดใหญ่ มีหมูมากกว่า 5,000 ตัว/ฟาร์ม และส่วนใหญ่เป็น factory farm
- ไทย : ฟาร์มขนาดเล็ก มีหมูมากกว่า 50 ตัว/ฟาร์ม และส่วนใหญ่เป็นฟาร์มแบบดั้งเดิม
5. สัดส่วนการผลิตหมูที่ได้จากฟาร์ม
- สหรัฐฯ : 90% มาจากฟาร์มขนาดใหญ่
- ไทย : 75% มาจากฟาร์มขนาดกลาง
6. ภาวะหมูล้นตลาด
- สหรัฐฯ : การผลิตมากกว่าความต้องการบริโภค 1.27 เท่า
- ไทย : ผลผลิตเพียงพอกับการบริโภคในประเทศ พึ่งพาตัวเองได้ดี
7. ต้นทุนการผลิต
- สหรัฐฯ : ต้นทุนต่ำ จากการมี Economy of Scale ในฟาร์มขนาดใหญ่
- ไทย : ต้นทุนสูง จากการมีฟาร์มขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่
- หมูไทย แพงกว่าสหรัฐฯ 1.3 เท่า
ศักยภาพหมูสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง และมีต้นทุนการผลิตต่ำ ทำให้สหรัฐฯ สามารถขายหมูได้ในราคาต่ำ โดยในช่วงปี 2563-2567 ราคาขายหมูสหรัฐฯ เฉลี่ยที่ 1.7 ดอลลาร์ฯต่อกก. ขณะที่ราคาขายหมูไทย เฉลี่ยที่ 2.3 ดอลลาร์ฯต่อกก.
ดังนั้น หากไทยยอมเปิดตลาดให้หมูสหรัฐฯ เข้ามาตีตลาด จะส่งผลกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทานหมูไทย
เนื้อหมูและเครื่องในราคาถูกจากสหรัฐฯ ที่จะทะลักเข้ามายังไทย จะกระทบต่ออุตสาหกรรมหมูไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) เป็นหลัก ซึ่งแต่ละผู้เล่นต่างมีความเชื่อมโยง และจะกระทบต่อเนื่องกันเป็น Domino Effect ดังนี้
1. เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู จำนวน 1.49 แสนราย ที่เกือบทั้งหมดเป็นรายย่อยกว่า 97% จะได้รับผลกระทบโดยตรงให้ว่างงาน และขาดรายได้ ซ้ำเติมเดิมที่ผู้เลี้ยงลดลงไปแล้วกว่า 21% ในช่วงปี 2564-2567 จากภาวะขาดทุนสะสมจนต้องเลิกกิจการไป
2. เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ อย่างรำสด ข้าวโพด ปลายข้าว (วัตถุดิบหลักในประเทศที่ใช้เลี้ยงหมู) รวมราว 5 ล้านครัวเรือน จะมีผลผลิตเหลือ และกดดันราคาให้ตกต่ำ กระทบรายได้เกษตรกรกลุ่มนี้ให้ลดลง
3. โรงชำแหละ อาจถูกตัดวงจรขั้นตอนนี้ไป จนต้องเลิกกิจการในที่สุด
4. เขียงหมู ถูกกดดันรายได้บางส่วนจากเนื้อหมูและเครื่องในหมูสหรัฐฯ ที่ทำการแยกชิ้นส่วนสำเร็จพร้อมบริโภคมาบ้างแล้ว
5. มูลค่าตลาดเนื้อหมูไทย คาดสูญเสียเบื้องต้นราว 112,330 ล้านบาท ในกรณีที่ไทยเปิดตลาดให้เนื้อหมูสหรัฐฯ เข้ามาอย่างเสรี 100% ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวยังไม่นับรวมความสูญเสียในกรณีที่ไทยนำเข้าเครื่องในหมูด้วย
6. ผู้บริโภคและร้านอาหาร แม้จะสามารถซื้อเนื้อหมูและเครื่องในหมูสหรัฐฯ ได้ในราคาถูก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตอาหารได้ แต่ในระยะยาว สารเร่งเนื้อแดง ในหมูสหรัฐฯ จะทำให้ผู้บริโภคอาจเกิดอาการข้างเคียงต่อสุขภาพได้หลากหลาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 68)