International SOS แนะภาคธุรกิจใช้นวัตกรรมช่วยจัดการกับภาวะวิกฤต

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) บริษัทชั้นนำระดับโลกในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัย ได้เผยแพร่รายงานพิเศษหัวข้อ “การสร้างโปรแกรมการบริหารจัดการภาวะวิกฤตที่ตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” (Building a Responsive and Effective Crisis Management Programme) พร้อมด้วยเว็บแคสต์ประกอบรายงาน เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการก้าวข้ามวิธีการตอบสนองภาวะวิกฤตแบบเดิม ๆ ไปสู่การประยุกต์ใช้กลยุทธ์ด้านนวัตกรรม

ไจล์ส ฮิลล์ หัวหน้าฝ่ายบริการความปลอดภัยระดับโลกของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส เปิดเผยว่า แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้ว ภาวะวิกฤตจะเป็นสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย แต่ในขณะเดียวกัน วิกฤตก็ถือเป็นบททดสอบสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นขององค์กรและส่งเสริมนวัตกรรม เพราะภาวะวิกฤตจะเปิดเผยจุดอ่อนที่ซ่อนอยู่และนำไปสู่การตัดสินใจที่เฉียบคมยิ่งขึ้น รวมทั้งผลักดันให้องค์กรต้องหันมาทบทวนเรื่องความคล่องตัวในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นความสามารถที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับองค์กรในโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน ขณะเดียวกัน วิกฤตยังเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์และวัฒนธรรมองค์กรอย่างตรงไปตรงมา ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารและองค์กรที่มองวิกฤตเป็นโอกาส ไม่ใช่แค่ภัยคุกคาม จะมีความเข้มแข็งขึ้น มีระบบภายในองค์กรที่คล่องตัวมากขึ้น มีความสามารถในการจัดลำดับความสำคัญได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น ส่งผลให้องค์กรไม่เพียงแค่อยู่รอดเท่านั้น แต่ยังสามารถรับมือได้แม้ในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤต

รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อชี้ให้เห็นว่า การบริหารจัดการภาวะวิกฤตโดยมีการอ้างอิงข้อมูล เน้นการลงมือปฏิบัติจริง และปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม จะช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและเติบโตได้อย่างมั่นคง ขณะเดียวกัน ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ก็สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และสามารถรับมือกับความท้าทายที่คาดไม่ถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังมีข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญของแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการบริหารจัดการภาวะวิกฤตในปัจจุบัน ตั้งแต่การวางแผนล่วงหน้าก่อนเกิดวิกฤต การจัดการภายหลังวิกฤตสิ้นสุด ไปจนถึงบทบาทสำคัญของการรับรู้และความเข้าใจในสถานการณ์ การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ และการประยุกต์ใช้นวัตกรรม

ทางด้าน โกติเยร์ โปรอต หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการภาวะวิกฤตของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดมาใช้ว่า ด้วยสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นในระยะหลังนี้ ทำให้เราตระหนักชัดถึงความสำคัญของการบริหารจัดการภาวะวิกฤตอย่างรอบด้าน รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นทุกรูปแบบ รายงานฉบับนี้ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งข้อมูลเท่านั้น หากแต่เป็นการเรียกร้องให้องค์กรทุกองค์กร ผู้บริหารทุกคน และพนักงานทุกคน ลุกขึ้นมาดำเนินการอย่างจริงจัง เราจะสามารถพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส พร้อมกับสร้างหลักประกันความสำเร็จและความยั่งยืนให้กับองค์กรได้ ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกันและเตรียมความพร้อมอย่างจริงจังในทุกมิติ

ประเด็นสำคัญของรายงานสมุดพิเศษ มีดังนี้

  • การวางแผนล่วงหน้าก่อนเกิดวิกฤต ประกอบด้วยการระบุถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในระบบ การจัดระเบียบทรัพยากร และการฝึกอบรมทีมงานให้มีความสามารถลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจที่มีทักษะเฉพาะทางและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดทำเอกสารสำคัญ เช่น นโยบายการบริหารจัดการภาวะวิกฤต แผนการดำเนินงาน กลยุทธ์การสื่อสาร และคู่มือต่าง ๆ
  • การตอบสนองต่อวิกฤต ประกอบด้วยการระดมทีมงาน การควบคุมสถานการณ์ และการแก้ไขปัญหาด้วยการตัดสินใจอย่างรวดเร็วและการสื่อสารที่ชัดเจน รายงานฉบับนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของทีมตอบสนองที่มีความคล่องตัวและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป
  • การจัดการภายหลังวิกฤตสิ้นสุด ประกอบด้วยการสนับสนุนทีมงาน การวิเคราะห์บริบทใหม่ภายหลังวิกฤต และการปรับกลยุทธ์ในการรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การกำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการ การแบ่งงานออกเป็นกลุ่มงานย่อย การจัดลำดับความสำคัญของงาน ตลอดจนการกำหนดทิศทางด้านกลยุทธ์และการพัฒนาแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 68)