
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงเป้าหมาย 3 ปีในการสร้างระบบนิเวศตลาดทุนที่น่าเชื่อถือ และสนับสนุนภาคธุรกิจไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ตามเป้าหมายประเทศ ว่า ท่ามกลางความคาดหวังของผู้ลงทุนทั่วโลกที่สูงขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการผ่าน 3 แผนงาน ช่วยสร้างความมั่นใจในตลาดทุนไทย และให้บริษัทสามารถเตรียมการเพื่อรองรับความท้าทาย การเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งสามารถคว้าโอกาสที่จะมาจากการเตรียมความพร้อมเรื่อง Climate Risk
ทั้งนี้ปัจจัยที่สำคัญที่สุดไม่ใช่แค่เรื่อง Climate เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการมี Governance ที่ดีในการจัดการด้วย เพราะหากบริษัทเหล่านั้นตั้งเป้าหมายจะดำเนินการด้าน ESG แต่ไม่ได้ดำเนินการจริง อาจทำให้เกิดปัญหาด้านความน่าเชื่อถือหรือ Credibility Crisis ได้
ดังนั้นเพื่อป้องกัน การฟอกเขียว (Greenwashing) หรือการเปิดเผยข้อมูลที่แสดงความเป็นมิตรต่อสังคม สิ่งแวดล้อมของธุรกิจที่เกินความเป็นจริง เพื่อหวังจะให้ธุรกิจสามารถขายของหรือสร้างกำไร ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็พยายามดำเนินการเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของข้อมูล ผ่านแผนงานที่ 1 การพัฒนา ESG Data Platform ซึ่งบริษัทจดทะเบียนสามารถกรอกข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และนำข้อมูลไปใช้ต่อได้ เช่น การทำรายงานตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด หรือเพื่อใช้ประเมิน ESG Rating ขณะที่นักลงทุนเองก็สามารถนำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินโครงการดังกล่าวมาแล้วเป็นปีที่ 3 โดยปัจจุบันมี 122 ตัวชี้วัด
ส่วนแผนงานที่ 2 การนำข้อมูลที่พัฒนาร่วมกับบริษัท ถูกนำไปใช้เพื่อให้เกิดแรงจูงใจ (Incentive) ให้บริษัทดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นในปีที่แล้ว ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ที่ออกสินเชื่อ Green loan มีระบบติดตามคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และให้สินเชื่อในอัตราพิเศษ เพื่อสนับสนุนบริษัทในการลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปีนี้ก็จะทำโครงการในลักษณะเดียวกันกับธนาคารอื่น ๆ อีกซึ่งจะทยอยประกาศความร่วมมือออกมา
นอกจากนี้ประเด็นการสร้างแรงจูงใจให้กับบริษัทจดทะเบียน อย่างการออกกองทุน Thai ESG และ กองทุน Thai ESGX ที่กองทุนจะต้องลงทุนหุ้นไทยที่ได้รับ ESG Rating ซึ่งหลังจากออกกองทุน Thai ESG รอบแรก มีบริษัทจดทะเบียนเข้ามาขอรับการประเมิน ESG Rating เพิ่มมากขึ้น 20-30% และมีบริษัทจดทะเบียนที่เปิดข้อมูลด้านคาร์บอนมากขึ้น จากเดิม 30% ของบริษัทจดทะเบียน เป็น 60% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด
“เรื่อง Incentive นอกจากเป็นแรงจูงใจแล้ว ยังทำให้ประเด็น Climate Change ถูกดึงเป็น Priority หลักไม่ใช่แค่เรื่อง CSR แต่เป็นเรื่องความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมากขึ้น”
สำหรับแผนงานที่ 3 การพัฒนาบุคลากร ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินโครงการ SET ESG Academy เนื่องจากพบว่าบุคลากรที่ทำงานเรื่อง ESG น้อยมาก ยกตัวอย่างเช่นผู้ตรวจสอบด้านคาร์บอน หรือ Carbon Auditor คาดว่าไม่ถึงหลักร้อยรายซึ่งยังไม่เพียงพอ ซึ่งประเด็นดังกล่าวสามารถใช้หลักสูตรของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้บุคลากรในประเทศได้รับองค์ความรู้ด้าน ESG โดยหลายปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เพื่อให้บุคลากรในบริษัทจดทะเบียน บุคลากรในมหาวิทยาลัย กลุ่มข้าราชการ เข้าเรียนคอร์สออนไลน์เกี่ยวกับ ESG เพื่อเป็น SET Esg Expert ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 300 คน
ทั้งนี้จากการดำเนินการตามแผนทั้ง 3 เรื่อง แน่นอนว่าต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มภาคธุรกิจ กลุ่มบริษัทจดทะเบียน แน่นอนว่าเรื่อง Greenwatching เป็นประเด็นที่น่ากังวล แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการเพื่อสอดส่อง ตรวจสอบ รวมทั้งการมีแรงจูงใจที่สถาบันการเงินหรือนักลงทุนให้บริษัทที่ทำดีก็เป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับก็ต้องร่วมกันตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไร
นางสาวชนานันท์ สุภาดุลย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้ดำเนินโครงการ Financing the Transition เพื่อให้ภาคธุรกิจ ภาคเศรษฐกิจ สามารถปรับตัวสู่ความยั่งยืน โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะเข้าไปสำรวจกลุ่มลูกค้าว่ากลุ่มใดที่มีศักยภาพในการปรับตัว ซึ่งธนาคารจะสนับสนุนทางการเงินเพื่อที่สนับสนุนในการปรับตัวจาก Beorn เป็น Less Brown โดยตั้งเป้าภายใน 1 ปีสนับสนุนทางการเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ณ สิ้นเดือน เม.ย. 68 อยู่ที่ 90,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากไปดูที่รายละเอียดจำนวนรายของธุรกิจ SME ที่ปรับตัวยังไม่ได้ตามเป้า โดยส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจรายใหญ่ที่ทำได้
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนภายใต้โครงการนี้ จะมีการตั้งตัวชี้วัด เช่น ลูกค้ากู้เพื่อไปเปลี่ยนเครื่องจักรลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงไปได้เท่านี้ ถ้าทำได้จริงการใช้พลังงานลดลงจริง จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราพิเศษซึ่งจะลดลงกว่าเรทปกติ ประมาณ 0.5-1% แล้วแต่ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้จูงใจให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้มากที่สุด
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และกรรมการอิสระ กรรมการบริหาร และกรรมการเทคโนโลยี บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “Proof Your Climate Pledges as Grounded Governance” ย้ำเป้าหมาย Net Zero จะไม่สามารถบรรลุได้หากไม่มี “ธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง” (Grounded Governance) ซึ่งคณะกรรมการต้องเข้ามากำกับดูแลและผลักดันวาระด้านสภาพภูมิอากาศให้ผนวกกับกลยุทธ์หลัก นำไปสู่การปฏิบัติจริงทั้งองค์กร การประกาศเป้าหมายโดยปราศจากกลไกกำกับดูแลที่เข้มแข็งจะถูกมองว่าเป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านการฟอกเขียว (Greenwashing) ที่ลดทอนความเชื่อมั่นในที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 68)