คมนาคม ถกกทม. พร้อมดันรถไฟฟ้า 20 บ.ทันใช้ต.ค.นี้ เคลียร์ปมเงินชดเชยเพียงพอ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท (20 บาทตลอดสาย) โดยยืนยันว่า ภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ประชาชนจะได้ใช้บริการอย่างแน่นอน โดยจะครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 8 สาย รวม 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร (กม.) ทั้งสิ้น 194 สถานี

ทั้งนี้ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ประชุมร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และคณะทำงาน รวมถึงภาคเอกชนผู้ได้รับสัมปทาน โดยในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และมีความยินดีที่จะสนับสนุนพร้อมที่จะผลักดันมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการตามแผนที่กำหนดไว้

ยันเงินชดเชยมีเพียงพอ

รองนายกฯ และรมว.คมนาคม กล่าวต่อถึงในส่วนของมูลค่าการชดเชยว่า จะประเมินจากจำนวนผู้ใช้บริการ ซึ่งจำนวนเงินชดเชยนั้น มั่นใจว่ามีเพียงพอในการใช้ดำเนินการ พร้อมย้ำว่าภายในเดือนส.ค.68 จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” โดยจะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย ระบุเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรโดยสาร (Rabbit Card ที่ลงทะเบียน) ที่จะใช้งานกับระบบรถไฟฟ้า ซึ่งบัตรที่ได้รับการยืนยันการลงทะเบียน จะได้สิทธิโดยอัตโนมัติ

“นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นนโยบายที่พี่น้องประชาชนให้การตอบรับเป็นอย่างดี เห็นได้จากตัวเลขผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่า ในอนาคตปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากนโยบายดังกล่าว ช่วยลดค่าครองชีพในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียม มีความปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมช่วยลดรถยนต์บนถนน ลดอุบัติเหตุ และมลพิษทางอากาศอย่างมีนัยสำคัญด้วย” นายสุริยะ ระบุ

พร้อมกันนี้ ยังได้มอบหมายให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ดำเนินการจัดทำฟีดเดอร์ โดยจะนำรถประจำทางมาใช้วิ่งระยะสั้น เพื่อรับ-ส่ง ประชาชนตามแนวรถไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น

คาดร่างกม.รฟม.-ตั๋วร่วมฯ เข้าสภาฯ 7 ส.ค.

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …ในการดำเนินการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม จะเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ภายในวันที่ 7 ส.ค.นี้ และจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ พร้อมกับออกกฎหมายลูกในการบังคับใช้ รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป

ส่วนแหล่งเงินทุนหลังจากแก้ไข พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ แล้วนั้น รฟม. จะนำรายได้สะสมส่งเข้ากระทรวงการคลัง และนำเข้ากองทุนภายใต้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เพื่อนำเงินไปชดเชยส่วนต่างของรายได้ค่าโดยสาร ให้แก่ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ จากการเก็บค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทตลอดสาย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 68)