
สายการบินอะแลสกา แอร์ไลน์ส (Alaska Airlines) ของสหรัฐฯ กลับมาให้บริการได้อีกครั้งในช่วงดึกของวันอาทิตย์ (20 ก.ค.) หลังจากมีคำสั่งระงับการบินของเครื่องบินทุกลำเป็นเวลาราว 3 ชั่วโมง เนื่องจากปัญหาระบบไอทีขัดข้อง ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองในรอบกว่าหนึ่งปีที่สายการบินต้องระงับฝูงบินทั้งหมด
ทางสายการบินได้ระงับเที่ยวบินทั้งหมดของอะแลสกา แอร์ไลน์ส และฮอไรซันแอร์ (Horizon Air) เมื่อเวลาประมาณ 20:00 น. ของวันอาทิตย์ตามเวลาแปซิฟิก (ประมาณ 10.00 น.ตามเวลาไทยในวันนี้) หลังเกิดเหตุขัดข้องที่ส่งผลกระทบต่อระบบไอทีของบริษัท และได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเมื่อเวลา 23:00 น. ตามเวลาแปซิฟิก
“ในระหว่างที่เรากำลังจัดตำแหน่งเครื่องบินและลูกเรือใหม่ มีแนวโน้มสูงที่จะยังคงมีผลกระทบตกค้างต่อเที่ยวบินของเรา ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าการปฏิบัติงานโดยรวมจะกลับสู่ภาวะปกติ” อะแลสกา แอร์ไลน์ส ระบุ
ในเดือนเม.ย. 2567 อะแลสกา แอร์ไลน์ส เคยระงับเที่ยวบินทั้งหมดเนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบที่คำนวณน้ำหนักและสมดุลของเครื่องบิน
เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา สายการบินฮาวายเอียน แอร์ไลน์ส (Hawaiian Airlines) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของอะแลสกา แอร์ กรุ๊ป ก็ได้เปิดเผยว่าระบบไอทีบางส่วนของบริษัทถูกแฮก โดยอะแลสกา แอร์ กรุ๊ป กล่าวว่ายังอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบทางการเงินจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ข่าวเกี่ยวกับระบบไอทีขัดข้องของอะแลสกา แอร์ไลน์ส มีขึ้นในช่วงเวลาที่บริษัทเทคโนโลยีอย่างกูเกิล (Google) และ พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ (Palo Alto Networks) ได้ออกมาเตือนว่า กลุ่มแฮกเกอร์ “Scattered Spider” กำลังพุ่งเป้าโจมตีอุตสาหกรรมการบิน
ขณะเดียวกัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ได้ประกาศว่ากำลังมีการ “โจมตีอย่างต่อเนื่อง” ต่อซอฟต์แวร์เซิร์ฟเวอร์ของบริษัท ซึ่งใช้งานโดยหน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 68)