
ศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาด (CREA) ระบุในรายงานในวันนี้ (22 ก.ค.) ว่า จีนจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตเหล็กจากกระบวนการเตาหลอมแบบดั้งเดิมที่ใช้ถ่านหินให้ได้กว่า 90 ล้านตันจากระดับของปี 2567 หากต้องการบรรลุเป้าหมายเหล็กสีเขียว (green steel) ภายในปีนี้
นักวิจัยจาก CREA ประเมินว่า หากจีนสามารถเพิ่มสัดส่วนการผลิตเหล็กจากเตาอาร์คไฟฟ้า (EAF) ให้ได้ถึง 15% ภายในปีนี้ จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนลงได้มากกว่า 160 ล้านตัน ซึ่งจำนวนนี้เกือบเทียบเท่าอุตสาหกรรมเหล็กทั้งหมดของสหภาพยุโรป (EU)
CREA เปิดเผยว่า จีนยังคงตามหลังประเทศอื่น ๆ ในเรื่องการใช้เตาอาร์คไฟฟ้า โดยสัดส่วนเฉลี่ยของเตาอาร์คไฟฟ้าในการผลิตเหล็กทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 30% ขณะที่สหรัฐฯ อยู่ที่ 71.8%, อินเดีย 58.8% และญี่ปุ่น 26.2%
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก CREA ระบุเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2564 ถึงครึ่งแรกของปี 2568 การใช้กำลังการผลิตของเตาหลอมในจีนเพิ่มขึ้นจาก 85.6% แตะ 88.6% ในทางกลับกัน เตาอาร์คไฟฟ้ากลับมีการใช้งานลดลงจาก 58.9% เหลือเพียง 48.6%
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลกเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ คิดเป็นสัดส่วน 8% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก โดยจีนเพียงประเทศเดียวผลิตเหล็กมากกว่าครึ่งของทั้งโลก
ในปี 2567 จีนผลิตเหล็กดิบรวมทั้งสิ้น 1.005 พันล้านตัน โดยกว่า 90% มาจากกระบวนการถลุงด้วยเตาหลอมซึ่งเป็นกระบวนการที่ปล่อยคาร์บอนสูง ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กของจีนกำลังเผชิญปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน ส่งผลให้ราคาเหล็กตกต่ำ ขณะเดียวกันก็จุดกระแสต่อต้านและมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าทั่วโลก ท่ามกลางการส่งออกเหล็กที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของจีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ค. 68)