
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (22 ก.ค.) ส่วนดัชนี S&P500 ขยับขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ และยังคงติดตามความความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และบรรดาประเทศคู่ค้า
- ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 44,502.44 จุด เพิ่มขึ้น 179.37 จุด หรือ +0.40%, และ
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 6,309.62 จุด เพิ่มขึ้น 4.02 จุด หรือ +0.06%
- ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 20,892.68 จุด ลดลง 81.49 จุด หรือ -0.39%
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้น มุมมองบวกเกี่ยวกับการใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นปัจจัยหนุนหุ้นบริษัทที่มีมูลค่าสูงในตลาด และช่วยให้ดัชนี S&P500 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลายครั้ง ส่วนในขณะนี้ ตลาดอยู่ในโหมดรอดูสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำหนดเส้นตายการเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราใหม่ของสหรัฐฯ ในวันที่ 1 ส.ค. และรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีที่มีมาร์เก็ตแคปสูง หรือกลุ่ม Magnificent Seven ในสัปดาห์นี้
นักลงทุนจับตาการเจรจาการค้าอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า สหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับฟิลิปปินส์แล้ว โดยสหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากฟิลิปปินส์ในอัตรา 19% หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ขู่เรียกเก็บภาษีในอัตรา 20% ขณะที่ฟิลิปปินส์จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 0% และจะเปิดตลาดเสรีให้กับสินค้าจากสหรัฐฯ
ทางด้านสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาจะพบปะกับรัฐมนตรีคลังของจีนที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือเกี่ยวกับการขยายกำหนดเส้นตายการเรียกเก็บภาษีสินค้าจีน จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 12 ส.ค. เพื่อเปิดทางให้สหรัฐฯ และจีนยังคงทำการเจรจาข้อตกลงการค้าต่อไป
อย่างไรก็ดี การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ยังคงไม่คืบหน้า โดยรายงานระบุว่าคณะผู้เจรจาการค้าของอินเดียได้เดินทางกลับกรุงนิวเดลีแล้ว หลังใช้เวลาเจรจาเกือบหนึ่งสัปดาห์ในวอชิงตัน และแทบไม่มีความหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามข้อตกลงการค้าได้ก่อนถึงเส้นตายวันที่ 1 ส.ค. ขณะที่เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (EU) กำลังพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ หากการเจรจาทางการค้าไม่เป็นผลสำเร็จภายในวันที่ 1 ส.ค. และรัฐบาลทรัมป์เดินหน้าตามคำขู่ที่จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก EU ในอัตรา 30%
หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ พุ่งขึ้น 1.90% และ 1.78% ตามลำดับ ส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มบริการด้านการสื่อสาร ปรับตัวลง 1.08% และ 0.31% ตามลำดับ
หุ้นเจเนอรัล มอเตอร์ (GM) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของสหรัฐฯ ร่วงลง 8.1% หลังจากบริษัทเปิดเผยว่ามาตรการภาษีศุลกากรส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทเป็นมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่หุ้นฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) ปรับตัวลงราว 1%
หุ้นเทสลา (Tesla) ดีดตัวขึ้น 1.1% และหุ้นอัลฟาเบท (Alphabet) บวก 0.65% ก่อนที่ทั้งสองบริษัทจะรายงานผลประกอบการในวันนี้ (23 ก.ค.) ขณะที่หุ้นบริษัทเทคโนโลยีรายอื่น ๆ ปรับตัวลง โดยหุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ (Meta Platforms) และหุ้นไมโครซอฟท์ (Microsoft) ต่างก็ปรับตัวลงราว 1%
หุ้นล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยุทโธปกรณ์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ร่วงลงเกือบ 11% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรรายไตรมาสทรุดตัวลงราว 80% ขณะที่หุ้นฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชันแนล (Philip Morris International) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตบุหรี่รายใหญ่ของสหรัฐฯ ร่วงลง 8.43% หลังบริษัทเปิดเผยรายได้ที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาส 2/2568
เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมว่าด้วยการทบทวนแบบบูรณาการเกี่ยวกับกรอบเงินกองทุนสำหรับธนาคารขนาดใหญ่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อคืนนี้ตามเวลาไทย โดยพาวเวลกล่าวว่า ธนาคารขนาดใหญ่จำเป็นที่จะต้องมีเงินกองทุนอย่างเพียงพอและมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยง และยังกล่าวด้วยว่าธนาคารขนาดใหญ่จำเป็นที่จะต้องแข่งขันกันอย่างเสรี
อย่างไรก็ดี พาวเวลไม่ได้กล่าวถึงนโยบายการเงินของเฟด เนื่องจากเฟดเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน หรือช่วง Blackout Period ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 29-30 ก.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 68)