
สหรัฐฯ และอินโดนีเซียประกาศบรรลุข้อตกลงทางการค้าครั้งสำคัญเมื่อวันอังคาร (22 ก.ค.) โดยอินโดนีเซียตกลงที่จะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ครอบคลุมกว่า 99% ของสินค้าทั้งหมดจากสหรัฐฯ และขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีทั้งหมด ขณะที่สหรัฐฯ จะปรับลดอัตราภาษีสำหรับสินค้าอินโดนีเซียลงเหลือ 19% จากเดิมที่เคยขู่จะเก็บในอัตรา 32%
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์มทรูธโซเชียล (Truth Social) ยกย่องข้อตกลงดังกล่าวว่าเป็น “ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของผู้ผลิตรถยนต์ บริษัทเทคฯ แรงงาน เกษตรกร ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ และผู้ผลิตของเรา”
ข้อตกลงดังกล่าวยังอยู่ในรูปแบบของกรอบการเจรจา ซึ่งคณะผู้เจรจาของทั้งสองฝ่ายจะจัดทำรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ให้แล้วเสร็จในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อให้ทันกำหนดเส้นตายในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่สหรัฐฯ มีกำหนดจะบังคับใช้อัตราภาษีที่สูงขึ้น
“วันนี้ สหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้เห็นชอบในกรอบการเจรจาข้อตกลงการค้าต่างตอบแทน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคี ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกของทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงตลาดของอีกฝ่ายได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุ
ภายใต้ข้อตกลงนี้ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้คำมั่นที่จะดำเนินการหลายด้านเพื่อเปิดตลาดให้กับสินค้าและบริการของสหรัฐฯ ประกอบด้วย
— ยกเลิกแผนการเก็บภาษีการถ่ายโอนข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และสนับสนุนการขยายเวลาการพักชำระอากรสำหรับอีคอมเมิร์ซขององค์การการค้าโลก (WTO)
— ยกเลิกข้อบังคับการตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนการจัดส่ง ซึ่งเคยเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกของสหรัฐฯ
— ยอมรับมาตรฐานความปลอดภัยยานยนต์ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพื่อเปิดทางให้รถยนต์จากสหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียที่มีประชากร 280 ล้านคนได้ง่ายขึ้น
— ยกเลิกข้อจำกัดการส่งออกแร่ธาตุที่สำคัญและข้อกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ
— ยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้า และข้อกำหนดใบอนุญาตสำหรับสินค้าและชิ้นส่วนที่ผลิตซ้ำจากสหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลทรัมป์ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวว่า การยกเลิกข้อบังคับการตรวจสอบสินค้าเกษตรอาจช่วยให้สหรัฐฯ กลับมาเกินดุลการค้าสินค้าเกษตรกับอินโดนีเซียได้อีกครั้ง
ในฝั่งของสหรัฐฯ นอกจากจะลดอัตราภาษีตอบโต้ลงเหลือ 19% ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่ประกาศใช้กับฟิลิปปินส์ก่อนหน้านี้แล้ว ยังอาจพิจารณาลดภาษีเพิ่มเติมสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์บางรายการที่สหรัฐฯ ไม่ได้ผลิตเองในประเทศ
ทั้งสองประเทศจะเจรจาเกี่ยวกับกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าผลประโยชน์จากข้อตกลงนี้จะตกอยู่กับสหรัฐฯ และอินโดนีเซียเป็นหลัก นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังตกลงที่จะเข้าร่วมเวทีระดับโลกว่าด้วยกำลังการผลิตเหล็กกล้าส่วนเกิน (Global Forum on Steel Excess Capacity) เพื่อร่วมแก้ไขปัญหากำลังการผลิตล้นตลาดโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 68)