In Focus: เขื่อนยักษ์ “ยาร์ลุงซางโป” แหล่งพลังงานสะอาด หรืออาวุธยุทธศาสตร์ใหม่ของจีน?

จีนได้เริ่มก่อสร้างโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ยาร์ลุงซางโป (Yarlung Tsangpo Hydropower Project) ขนาดยักษ์ที่ตั้งอยู่ในทิเบต ซึ่งถือเป็นโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยงบประมาณกว่า 1.2 ล้านล้านหยวน หรือราว 5.38 ล้านล้านบาท โดยโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังน้ำสูงถึง 70 กิกะวัตต์ หรือมากกว่า 3 เท่าของเขื่อนขนาดใหญ่ระดับโลกอย่างเขื่อนสามผา (Three Gorges Dam) ในมณฑลหูเป่ย

โครงการเขื่อนยักษ์ในทิเบตนี้ได้เริ่มการก่อสร้างอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2568 โดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีนเป็นผู้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ พื้นที่ก่อสร้างในเมืองหลินจือ (Nyingchi) เขตปกครองตนเองทิเบต และเรียกโครงการนี้ว่าเป็น “โครงการแห่งศตวรรษ” (Project of the Century)

โครงการดังกล่าวประกอบด้วยเขื่อนแบบขั้นบันได 5 เขื่อนในพื้นที่รอบเมืองหลินจือ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบต ซึ่งตั้งอยู่บริเวณลำน้ำยาร์ลุงซางโป แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านหลายประเทศในเอเชียใต้ โดยแม่น้ำสายนี้เมื่อไหลผ่านอินเดียจะกลายเป็นแม่น้ำพรหมบุตร (Brahmaputra) และเป็นแม่น้ำยมุนา (Jamuna) ในบังกลาเทศ ที่มีประชากรหลายล้านคนพึ่งพิงสำหรับการอุปโภคบริโภค รวมทั้งใช้น้ำเพื่อการเกษตรและการผลิตไฟฟ้า

*ประโยชน์และเป้าหมายของโครงการเมกะโปรเจกต์แห่งศตวรรษ

สำหรับจีน โครงการนี้เป็นทั้งเครื่องมือสำคัญในการผลักดันการผลิตพลังงานสะอาด และการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวโดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง เช่น เหล็กและซีเมนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศภายในปี 2593 โดยคาดว่าเขื่อนแห่งนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงปีละ 300 ล้านตัน

เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าเขื่อนยาร์ลุงซางโปจะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 3 แสนล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี มากกว่าเขื่อนสามผาเกือบ 3 เท่า หรือเทียบเท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอของประเทศอังกฤษทั้งประเทศตลอดทั้งปี โดยโครงการนี้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีน และถูกยกให้เป็นโครงการแห่งศตวรรษที่จะตอกย้ำบทบาทจีนในฐานะผู้นำพลังงานสะอาดของโลก

พลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ผลิตได้จะถูกส่งไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศจีนเพื่อใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และโครงการนี้ยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเทคโนโลยีและศักยภาพของจีนในฐานะผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก

การประกาศโครงการเขื่อนยักษ์นี้ยังสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง โดยดัชนีฮั่งเส็งพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบหลายเดือน ขณะที่หุ้นกลุ่มก่อสร้างและกลุ่มพลังงานของจีนได้รับแรงหนุน เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่า โครงการนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ และสะท้อนความเชื่อมั่นในความสามารถของรัฐบาลจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

*ความท้าทายและความเสี่ยง

แม้จะมีประโยชน์มหาศาล แต่โครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทางธรณีวิทยาสูง โดยเฉพาะในเขตเทือกเขาหิมาลัยที่เกิดแผ่นดินไหวและภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่นี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว การวางแผนออกแบบจึงต้องเข้มงวดรัดกุมและคำนึงถึงความปลอดภัยอย่างสูงสุดเพื่อป้องกันหายนะในอนาคต

นอกจากนี้ สภาพอากาศที่หนาวจัดและภูมิประเทศสูงชันยังเป็นอุปสรรคทางด้านวิศวกรรมและการก่อสร้าง ซึ่งอาจทำให้โครงการล่าช้าและทำให้ต้นทุนบานปลายได้

แม้จีนย้ำว่าโครงการนี้จะช่วยลดคาร์บอนและผลิตพลังงานสะอาด แต่เสียงวิจารณ์ด้านสิ่งแวดล้อมยังคงดังขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการสร้างเขื่อนนี้จะลดการไหลของตะกอนที่อุดมด้วยธาตุอาหารสำคัญต่อการเกษตรในที่ราบน้ำท่วมถึง

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจีนและนานาชาติต่างกังวลว่า เขื่อนยักษ์นี้จะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศของแม่น้ำยาร์ลุงซางโป โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง รวมถึงอุทยานแห่งชาติและเขตสงวนธรรมชาติ

นักวิจัยด้านทิเบตหลายคนกังวลว่า การสร้างเขื่อนจะกระทบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงอาจทำให้เกิดการอพยพของประชาชนครั้งใหญ่

ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ดินถล่ม และน้ำท่วมจากทะเลสาบน้ำแข็งละลายในพื้นที่สูงก็เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมที่อาจเกิดขึ้นจากการพังทลายของเขื่อนยักษ์นี้

ทางการจีนยืนยันว่า โครงการนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่างเขื่อน และจะรักษาความปลอดภัยของโครงการและสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนและโปร่งใสเพียงพอแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

*ยุทธศาสตร์น้ำ อำนาจใหม่ของจีน

แม่น้ำยาร์ลุงซางโป ซึ่งไหลผ่านอินเดียในชื่อแม่น้ำพรหมบุตร และต่อเนื่องไปเป็นแม่น้ำยมุนาในบังกลาเทศ ถือเป็นเส้นเลือดสำคัญต่อการเกษตรและการดำรงชีพของผู้คนนับล้านในภูมิภาค โดยความกังวลของอินเดียคือการที่จีนอาจใช้โครงการเขื่อนนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วยการควบคุมการไหลของน้ำ และสร้างแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า น้ำกำลังจะกลายเป็นอาวุธยุทธศาสตร์ใหม่ของจีน ขณะที่อินเดียแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเกษตรและการใช้น้ำในรัฐอรุณาจัลประเทศและรัฐอัสสัม รวมทั้งเรียกร้องให้จีนเปิดเผยข้อมูลและประสานงานล่วงหน้ากับประเทศที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ความสัมพันธ์จีน-อินเดียยังคงเปราะบางจากข้อพิพาทชายแดนที่ผ่านมา แม้ว่ามีสัญญาณบวกในการฟื้นฟูความสัมพันธ์บางส่วนก็ตาม

เพื่อปกป้องความมั่นคงทางน้ำ อินเดียได้เร่งสร้างเขื่อนของตนเอง โดยประกาศโครงการ Siang Upper Multipurpose Project ขนาด 1.1 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งอาจเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียในอนาคต ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระบุว่า การที่จีนสร้างเขื่อนขนาดยักษ์นี้ถือเป็น “การทูตเงียบ” (Quiet Diplomacy) ที่จะเพิ่มแต้มต่อให้จีนในการเจรจาประเด็นพรมแดน การค้า หรือความร่วมมือระหว่างประเทศ

เปมา คานดู มุขมนตรีรัฐอรุณาจัลประเทศ เตือนว่า เขื่อนยักษ์ของจีนอาจทำให้ 80% ของน้ำที่ไหลผ่านรัฐอรุณาจัลประเทศเหือดแห้งลง และหากจีนปล่อยน้ำออกมาเป็นจำนวนมาก เขื่อนดังกล่าวก็อาจจะกลายเป็น “ระเบิดน้ำ” (Water Bomb) ที่ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ด้านจีนตอบโต้ว่า โครงการนี้เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (Run-of-the-River) ที่ไม่กักเก็บน้ำปริมาณมาก และจะไม่กระทบการไหลของน้ำตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลของโครงการยังคงเป็นไปอย่างจำกัด

ปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและยืดเยื้อในภูมิภาคนี้ โดยมีข้อพิพาทด้านน้ำระหว่างประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้ง เช่น อินเดีย-ปากีสถาน และ อินเดีย-บังกลาเทศ ดังนั้นการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำอาจเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคได้

ทั้งนี้ โครงการเขื่อนยักษ์ของจีนในทิเบตถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับภูมิภาคนี้ ในแง่หนึ่งนั้นจะช่วยขับเคลื่อนการผลิตพลังงานสะอาดและการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนถึงความซับซ้อนของความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ การจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งต้องการความโปร่งใสและความร่วมมือกันอย่างจริงจังจากทุกฝ่าย

เขื่อนยักษ์ยาร์ลุงซางโปจึงไม่ใช่เพียงแค่เมกะโปรเจกต์พลังงานสะอาด แต่เป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ที่เพิ่มอำนาจต่อรองให้จีน ในขณะที่อินเดียพยายามตอบโต้ด้วยการเร่งสร้างเขื่อนและปกป้องสิทธิการใช้น้ำ และหากทั้งสองประเทศไม่สร้างความเชื่อมั่นร่วมกัน ประเด็นน้ำก็อาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ในดินแดนหิมาลัยในอนาคต ซึ่งเราคงต้องติดตามดูกันต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 68)