แบงก์ชาตินิวซีแลนด์ชี้ ภาษีสหรัฐฯ อาจช่วยลดเงินเฟ้อ แต่เสี่ยงฉุดเศรษฐกิจชะลอตัว

ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) เปิดเผยว่า แม้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ จะยังไม่ปรากฏผลกระทบที่ชัดเจน แต่คาดว่าอาจช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะกลางของนิวซีแลนด์ ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคธุรกิจและการใช้จ่ายของครัวเรือน

พอล คอนเวย์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ RBNZ ระบุว่า หลายประเทศเริ่มปรับทิศทางการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้านำเข้าลดลง และอาจมีส่วนช่วยชะลอเงินเฟ้อในนิวซีแลนด์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังอยู่ในช่วงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

ขณะนี้เศรษฐกิจนิวซีแลนด์ยังได้รับแรงหนุนจากราคาส่งออกที่อยู่ในระดับสูงและการลดลงของอัตราดอกเบี้ย แต่ด้วยสถานะของนิวซีแลนด์ที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิดกว้าง ทำให้ได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยมาตรการภาษีถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยตรง

คอนเวย์อธิบายว่า ตามรายงานทบทวนนโยบายการเงินในเดือนก.ค.นี้ RBNZ ยังคงมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม หากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะกลางคลี่คลายตามคาด

ทั้งนี้ RBNZ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% ในเดือนนี้ ซึ่งถือเป็นการหยุดพักการปรับดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มปรับลดในเดือนส.ค. 2567 เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในระยะสั้น

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มเก็บภาษีนำเข้าขั้นพื้นฐาน 10% กับหลายประเทศรวมถึงนิวซีแลนด์ ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยคอนเวย์ให้ข้อมูลว่า สัญญาณเบื้องต้นบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจนิวซีแลนด์ชะลอตัวลงในไตรมาส 2

แม้มาตรการภาษีอาจกระตุ้นเงินเฟ้อในสหรัฐฯ แต่นิวซีแลนด์อาจได้รับผลกระทบจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะลดความต้องการสินค้าส่งออกของนิวซีแลนด์

คอนเวย์สรุปว่า ปัจจัยเหล่านี้โดยรวมอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ชะลอตัวลงในช่วงกลางปี 2569

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ค. 68)